กรุงเทพฯ 13 ส.ค.-รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนโควิดชนิดโปรตีนซับยูนิต จากใบยาสูบ โดยจุฬาฯ-ใบยา คาดไตรมาส 3 ปี 2565 ผลิตใช้ได้ในประเทศ 60 ล้านโดสต่อปี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีน และยาชีววัตถุด้วยพืช โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิต จากใบยาสูบ ซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทย โดยคนไทย และเริ่มพัฒนา ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 63 ทดสอบในหนูทดลองและลิง พบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่เนื่องจากยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนด้วยพืชในประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จึงสนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืชเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น ตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรีย พาหะสารพันธุกรรม ของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวนเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีน ใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัทคินเจ่น ไบโอ เทคจำกัด จากนั้นนำมาผสมแบ่งบรรจุที่สถานเสาวภา
ทั้งนี้ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา จะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์เฟส 1 ต้นเดือนกันยายน เบื้องต้นปริมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม คาดในไตรมาส 3 ปี 2565 จะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทย ในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดส ต่อเดือนหรือราว 60 ล้านโดสต่อปี ที่สำคัญวัคซีนนี้ สามารถปรับปรุงรองรับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ทันที.-สำนักข่าวไทย