กรุงเทพฯ 24 ก.ค.-กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เปิดศูนย์พักคอยชุมชนพัฒนาบึงขวาง เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 รับฟังปัญหาและให้คำแนะนำ พร้อมแนะ 13 แนวทางการบริหารในการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน
วันนี้ (24 กรกฏาคม 2564) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมเปิดศูนย์พักคอยชุมชนพัฒนาบึงขวาง ณ ชอย 3 ถนนร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งร่วมรับฟังปัญหาของชุมชน โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตมีนบุรี ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม ประธานและคนในชุมชน และอาสาสมัคร เข้าร่วม
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ที่มีความห่วงใยและให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยมอบให้กรมอนามัยเป็นผู้ประสานงานของศูนย์ความร่วมมือภาครัฐและประชาสังคม เตรียมความพร้อมของท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนเพื่อให้ความรู้เรื่องการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สิ่งปฏิกูล มูลฝอยติดเชื้อ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการทำความสะอาด และจัดการสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การสร้างความรอบรู้เรื่องความเสี่ยงและการดูแลสุขลักษณะระหว่างที่อยู่ในศูนย์แยกกักตัวในชุมชน ส่งเสริมด้านโภชนาการ กิจกรรมทางกาย และจัดการอารมณ์ระหว่างเข้าศูนย์แยกกักตัวในชุมชน
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า แนวทางการบริหารในการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนดำเนินการได้ดังนี้ 1) สถานที่จัดตั้งมีการถ่ายเทอากาศได้ดี 2) มีวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จําเป็น เช่น เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ อุปกรณ์ทำความสะอาด 3) มีการปฐมนิเทศการปฏิบัติงาน ตลอดจนการกํากับดูแลการทํางานของบุคลากรโดยเฉพาะอาสาสมัคร 4) ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามสถานพยาบาลคู่สัญญา มีช่องทางในการติดต่อแพทย์ หรือพยาบาล พร้อมวัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต ความเข้มข้นของออกซิเจน อัตราการหายใจ สำหรับการรักษาให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข 5) ระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วย 6) ระบบการเชื่อมโยงและระบบสื่อสาร อาทิ ระบบเวชระเบียน การติดต่อสื่อสารทั่วไป
7) ระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ 8) ระบบสนับสนุน รวมถึงการจัดการด้านสาธารณูปโภคที่พักบุคลากร โภชนาการ เครื่องปั่นไฟ เครื่องกรองน้ำ ประปาสนาม 9) ระบบสุขาภิบาล มีกระบวนการกําจัดเชื้อโรค รวมถึงการจัดสัดส่วนห้องอาบน้ำ ห้องสุขา สำหรับผู้ป่วย และมีระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูล การจัดการน้ำเสียที่เหมาะสม 10) ระบบรักษาความปลอดภัย และป้องกันการก่อเหตุร้าย หากเป็นไปได้ควรมีระบบกล้องวงจรปิด 11) ระบบป้องกันอัคคีภัย และการซ้อมแผนจัดการอัคคีภัย 12) งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา เพื่อลดความกังวล และความเครียดของผู้ป่วย รวมถึงทีมบุคลากรทางการแพทย์ และ 13) การจัดระบบการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย