กรุงเทพฯ 24 มิ.ย.-บอร์ด สปสช.แจงจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นเฉพาะผู้แพ้วัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดให้แก่ประชาชนฟรีเท่านั้น ส่วนวัคซีนทางเลือกที่ รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินค่าฉีด หากเกิดความเสียหาย ต้องเรียกร้องจากเอกชน
นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ หรือวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนจัดหามาให้บริการโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากเกิดความเสียหายขึ้น ประชาชนสามารถยื่นคำร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ของ สปสช. ยืนยันว่าจะมีการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นให้ทุกกรณี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดหาและมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการนั้น หากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่ครอบคลุมตามเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช. ดังนั้นผู้รับบริการต้องไปเรียกร้องกับทางโรงพยาบาลเอกชนแทน
ส่วนกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อพิจารณาจากประกาศราชวิทยาลัยฯ ที่ต้องการให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนนั้น หน่วยงานหรือองค์กรใดที่จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากราชวิทยาลัยฯ ก็จะต้องฉีดให้กับผู้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้รับบริการเกิดปัญหาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 นั่นหมายความว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทาง สปสช. ตามเกณฑ์ แต่ถ้ามีหน่วยงานใดซื้อวัคซีน ซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯ แล้วไปเรียกเก็บค่าใช้บริการ – ค่าใช้จ่ายจากประชาชน ตรงนี้ทาง สปสช. ก็จะไม่เกี่ยวข้อง
“ผมคิดว่าปัญหานี้ไม่น่าเกิด เพราะทางราชวิทยาลัยฯ ประกาศแล้วว่า วัคซีนโควิด-19 ของทางราชวิทยาลัยนั้น หน่วยงานที่มารับไปต้องนำไปให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ถ้าพบว่ามีการเรียกเก็บเงิน ทางราชวิทยาลัยฯ ก็จะเรียกปรับหน่วยงานนั้น ผมคิดว่าวัคซีนโควิด-19 จากทางราชวิทยาลัยฯ เมื่อกระจายไปสู่ผู้รับบริการก็คงจะไม่มีหน่วยงาน-องค์กรใดไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนคนไทยที่ได้รับบริการ ซึ่งเมื่อผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ก็สามารถเรียกร้องเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจาก สปสช. ได้” นายจิรวุสฐ์ กล่าว
นายจิรวุสฐ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของซิโนฟาร์มที่มีประกันค่าเสียหายราว 1 ล้านบาท ตรงนี้จะถือว่าเป็นคนละส่วนกันกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช.ฉะนั้นสมมติว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ทาง สปสช. ก็จะต้องจ่ายในอัตราตามหลักเกณฑ์ เรายึดหลักว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อไหร่ หน่วยงาน องค์กร หรือสถานพยาบาลที่ผู้รับบริการไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ในกรณีได้รับความเสียหายหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด—19 ที่ภาครัฐจัดให้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือคือกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาทและกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯตามภาวะความรุนแรง โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330 .-สำนักข่าวไทย