กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – “ซิโนฟาร์ม” หนึ่งในวัคซีนทางเลือกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยกรณีฉุกเฉิน WHO รับขึ้นทะเบียนลำดับที่ 6
โดยยี่ห้อวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแผนจะนำเข้าเพื่อมาฉีดให้กับคนไทยล่าสุดคือ ซิโนฟาร์ม ถือเป็นวัคซีนที่ได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินลำดับที่ 6 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือ BBIBP-CarV ถูกผลิตขึ้นที่ประเทศจีน โดยบริษัท ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนชนิดเนื้อตาย มีวิธีการผลิตแบบ Inactived vaccine มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยมีรายการประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวมถึง 79.4% และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง
เป็นลักษณะของการผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบเดิมที่คนไทยเคยมีประสบการณ์ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน วัคซีนที่เป็นชนิดเนื้อตายจะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง
วัคซีนชนิดต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งหากนำไปเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่น อุณหภูมิจะค่อนข้างสูงกว่า จึงทำให้เก็บรักษาง่ายขึ้น
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่าวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ฉีดจำนวน 2 ครั้ง โดยระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 วัน (เกือบ 1 เดือน) จึงจะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม
ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อนหน้า, ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน, ห้ามฉีดในผู้ที่อาหารภูมิแพ้อย่างรุนแรง, ห้ามฉีดในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, ห้ามฉีดในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์, ห้ามฉีดในผู้ที่มีไข้ หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งต้องฉีด 2 โดส ได้รับการอนุมัติใช้แล้วใน 42 ประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยมีการใช้มากเป็นอันดับ 4 รองจากวัคซีนแอสตราเซนเนกา ใช้ใน 166 ประเทศ วัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค ใช้ใน 94 ประเทศ และวัคซีนโมเดอร์นา ใช้ใน 46 ประเทศ
JAMA (The Journal of the American Medical Association) สมาคมวารสารทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ได้เผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์ วัคซีนซิโนฟาร์มของจีน ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้การรับรองการใช้วัคซีนดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจากโควิด-19 ในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่
ด้านนายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความว่า
น่าจะเป็นข่าวดี ที่ซิโนฟาร์มที่เป็นของรัฐบาลจีนโดยตรงจะเข้ามาได้ และมีข้อมูลว่าสามารถที่จะกระตุ้นได้ทั้งสองระบบ คือภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองโดยที่แม้จะไม่สูงเท่าวัคซีนเทคนิคใหม่ mRNA แต่มีข้อมูลว่าสามารถกระตุ้นระบบเซลล์ได้ และมีความหมายที่ระบบนี้ คือตัวสำคัญในการลดความรุนแรงเมื่อไวรัสไปอยู่ที่อวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น ในถุงลมและในปอด
และนอกจากนั้นระบบเซลล์จะยังคงอยู่นานกว่าภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง และจากการที่วัคซีนเชื้อตายมีส่วนประกอบของไวรัสทั้งที่หนาม ที่เปลือกและแกนใน จะทำให้มีการป้องกันไวรัสที่กลายออกไป ทั้งสายแอฟริกัน อินเดีย หรือสายอื่นๆ
โดยประเทศไทย ผู้ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมาเริ่มฉีดให้กับประชาชนเป็นอันดับแรก จะเป็นราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (วันที่ 25 พ.ค.64) ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 และรวมถึงสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่นๆ สามารถนำเข้าวัคซีน-ยา-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็นได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4 ราย ได้แก่
วัคซีนแอสตราเซเนกา โดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด และวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
ส่วนวัคซีนของซิโนฟาร์ม ซึ่งยื่นนำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นั้นได้ยื่นเอกสารครบถ้วนต่อ อย. แล้ว อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างการทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิค วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ทุกรายการที่มายื่นขอขึ้นทะเบียน อย. จะพิจารณาทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล โดย อย. มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย