กรุงเทพฯ 16 เม.ย. – คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ออกมาตรการงดการรวมกลุ่ม ป้องกันการระบาดโควิด-19
วันนี้ (16 เม.ย.64) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2564 ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน รวมทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค. ซึ่งได้ประกาศในวันนี้ (16 เม.ย.64) ให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ไม่น้อยกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64 เป็นต้นไป ดังนี้ ร้านอาหารเปิดให้นั่งทานอาหารไม่เกิน 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น โดยงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ปิดให้บริการ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการถึง 21.00 น. (งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก) ร้านสะดวกซื้อ เปิดได้เวลา 04.00-23.00 น. สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา งดการเรียนการสอนในห้องเรียน สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ฟิตเนส และยิม เปิดให้บริการถึง 21.00 น. นอกจากนี้ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 50 คน และกิจกรรมที่เป็นงานเลี้ยง งานสังสรรค์ หากเกิน 50 คน ต้องขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ก่อน และจะได้เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ บริษัท สลับวันทำงาน เหลื่อมเวลาทำงาน หรือใช้มาตรการ work from home ให้ได้มากที่สุด
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครสามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ 9,183 คน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว 4,939 คน และรองรับได้อีก 4,244 คน แบ่งแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้รองรับผู้ป่วยโควิดให้มากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัด ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้ และระดับที่ 3 จัดทำโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้พร้อมรองรับ ณ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ บางบอน) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 2 (ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา หนองจอก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 350 เตียง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลกองทัพและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก ในส่วนของความล่าช้าในการรับ-ส่งผู้ป่วย ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการทำงาน โดยให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักเทศกิจ และ 50 สำนักงานเขต จัดรถร่วมให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ตกค้าง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อไป. – สำนักข่าวไทย