บทความเนื่องในวันความสุขสากล 20 มีนาคม 2564 โดย ผศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์) ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเพิ่มความสุขของสังคม : ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน มีการวิเคราะห์สาเหตุทางวิชาการกันมามากมาย แต่การแก้ไขในระดับโครงสร้างอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล เราจึงเห็นปัญหานี้ยังคงอยู่แบบไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นได้ในเร็ววัน ตรงกันข้ามดูเหมือนจะปัญหานี้จะมากขึ้น โดยความเหลื่อมล้ำในสังคมจะรุนแรงขึ้นรื่อยๆ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี่อย่างรวดเร็ว หรือมี technological disruption และยิ่งซ้ำเติมด้วยการระบาดของของโควิด 19 ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะต่อแรงงานไร้ฝีมือและคนด้อยโอกาสที่ไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก ซ้ำเติมโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้ที่น้อยอยู่แล้ว ปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ ที่มีช่องว่างทางเทคโนโลยี รวมทั้งช่องว่างทางรายได้และโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ยิ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้มาวิเคราะห์สาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่มีการพูดกันมากในวงวิชาการและวิจัยอย่างมากมาย แต่จะพูดถึงประเด็นนี้ในอีกมุมหนึ่งคือ ความเหลื่อมล้ำสัมพันธ์กับความสุขอย่างไรในทางวิชาการและทำไมเราจึงควรลดการเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเพิ่มความสุขในสังคมอย่างจริงจัง
มีการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการด้านความสุขจากนานาประเทศรวมทั้งจากงานของผู้เขียนเอง พบว่า ในประด็นเรื่องรายได้ บทบาทของรายได้โดยเปรียบเทียบหรือรายได้สัมพัทธ์ (relative income) มีความสัมพันธ์ต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่ารายได้สัมบรูณ์ (absolute income) อาจจะไม่มีผลมากนักต่อความสุขก็ตาม จากการทดสอบเชิงประจักษ์จากงานศึกษาวิจัยต่างๆพอจะสรุปได้ว่า ในสังคมที่มีช่องว่างของรายได้แตกต่างกันน้อย ระดับความสุขของคนในสังคมจะสูงกว่า เมื่อเทียบกับสังคมที่มีช่องว่างของรายได้แตกต่างกันมาก ในขณะที่ระดับรายได้โดยตัวมันเองหรือรายได้สัมบูรณ์อาจจะไม่มีผลต่อความสุขเลย หมายความว่า ถึงแม้บุคคลหรือประเทศมีระดับรายได้ที่เป็นตัวเงินหรือ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ ความสุขของคนหรือประเทศ ไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นตามหรืออาจไม่มีผลต่อความสุขมากนัก แต่ช่องว่างของความแตกต่างทางรายได้ของคนในสังคม หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมต่างหาก ที่มีผลต่อความสุขอย่างจริงจัง
ซึ่งปรากฎการณ์นี้ อธิบายได้จากทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) ซึ่งมีผลเชิงลบต่อความสุข การที่ระดับรายได้ของประเทศสูงขึ้นทุกปี แต่คนมีความรู้สึกแตกต่างกันในสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจมาก ความสุขของคนในประเทศจึงไม่ได้สูงขึ้นตาม (เช่น กรณีศึกษาจากข้อมูลระยะยาวในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น รวมทั้งอีกหลายกรณีศึกษา) นอกจากนั้น ช่องว่างของความแตกต่างที่มากขึ้นนี้ ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม การเมือง และการเข้าถึงฐานทรัพยากร อันนำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆอีกมากมาย
ดังนั้น การลดความแตกต่างของรายได้โดยเปรียบเทียบหรือการลดความเหลื่อมล้ำจึงมีความสัมพันธ์กับความสุขของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าการเพิ่มระดับของรายได้โดยตัวเงินเท่านั้น ถ้าผู้จัดทำนโยบายเข้าใจเรื่องนี้ ควรออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ซึ่งต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย) มากกว่าเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วๆไปที่ต้องการให้ตัวเลขจีดีพีดีขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้น ในทางทฤษฎี มีกฏของการลดน้อยถอยลงต่อหน่วยของความสุขต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น (Role of diminishing return of happiness to income) หมายความว่า เมื่อมีระดับรายได้ที่ต่ำ การเพิ่มขึ้นของรายได้จะมีผลทำให้มีความสุขต่อหน่วยเพิ่มขึ้นมาก แต่ในระดับรายได้ที่สูงขึ้น ความสุขต่อหน่วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะค่อยๆลดลง กล่าวคือ การได้รายได้เพิ่มขึ้นที่เท่ากันในขณะที่รายได้ต่ำมีผลต่อความสุขมากกว่าในขณะที่มีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น นโยบายที่เพิ่มรายได้ให้แก่คนรายได้น้อยจะเพิ่มความสุขต่อหน่วยมากกว่านโยบายที่เพิ่มรายได้ที่เท่ากันให้คนรายได้สูง นัยเชิงนโยบายก็คือ หากรัฐจะกระจายงบประมาณจำนวนหนึ่งไปให้คนรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนปัจจัยสี่ งบประมาณที่กระจายไปนั้นจะทำให้ความสุขต่อหน่วยรายได้ของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ามาก (อีกทั้งปริมาณของคนกลุ่มรายได้น้อยนี้มีจำนวนมากกว่ามากมาย) หากพิจารณาในด้านความสุขมวลรวมของประเทศ การกระจายรายได้ไปสู่คนยากจนและผู้มีรายได้ต่ำจะเพิ่มความสุขมวลรวมของประเทศมากกว่า การเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้สูง ดังนั้น หากต้องการจัดทำนโยบายที่จะเพิ่มความสุขของสังคม จึงต้องลดการกระจุกตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มีการกระจายรายได้ไปสู่คนรายได้น้อยมากขึ้น
นอกจากแง่มุมทางทฤษฎีความสุขแล้ว ในด้านของการพัฒนามนุษย์ การจัดสรรทรัพยากรไปสู่คนยากจนและด้อยโอกาสเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของการดำรงชีวิตและสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ปัจจัยสี่อย่างเพียงพอ ได้รับโอกาสขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค เพื่อที่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆขึ้นไปได้ ทุกคนจึงจำเป็นต้องพ้นจากความยากจนและความขัดสนทางกายภาพ เพื่อการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงขึ้นไป และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป การเพิ่มศักยภาพให้คนยากจนและคนรายได้น้อย จะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและส่งผลทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงรวมทั้งเพิ่มผลิตภาพของประเทศด้วย
ในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปํญหาสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจที่สูง จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน และมลพิษ จากตัวเลขทางสถิติที่พบว่าคนและประเทศที่มีรายได้สูงมาก ใช้ทรัพยากรและพลังงานของโลกในสัดส่วนที่สูงมาก มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากกว่าคนและประเทศที่มีรายได้น้อย เพราะยิ่งมีรายได้มาก ก็ยิ่งบริโภคมากและมีวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือย ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างสิ้นเปลือง ดังนั้น การพัฒนาที่ยิ่งทำให้ช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลดีต่อความสุขของคนในสังคม
ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำจึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มความสุขในสังคม หากต้องการเพิ่มความสุขให้คนในประเทศ แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ก็สามารถกระทำได้ด้วยการกระจายรายได้และโอกาสทางสังคมให้เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ดีกว่าการทุ่มเททรัพยากรของประเทศไปเพื่อการเติบโตในระยะสั้นเท่านั้น เพราะรายได้ที่เป็นตัวเงินหรือจีดีพีเพียงอย่างเดียว อาจไม่มีผลต่อการเพิ่มความสุขมวลรวมของคนในประเทศมากเท่ากับการลดความเหลื่อมล้ำ หากเป้าหมายของการพัฒนาคือเป็นไปเพื่อความสุขของคนในสังคมแล้ว มาตรการทางเศรษฐกิจควรเน้นและเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก เพิ่มความเท่าเทียมกันของโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างและการพัฒนาทักษะฝีมือให้คนทำงานที่จะสามารถทำงานได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วต่อไปในยุคหลังโควิด 19 เป็นสิ่งที่จะต้องเตรียมอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เมื่อเทคโนโลยีมาแทนที่แรงงานไร้ฝีมือและบางภาคการผลิตอาจต้องล้มเลิกไป จะมีคนจะว่างงานมากขึ้น หรือทำงานนอกระบบ ทำงานอิสระที่ไม่มีความมั่นคงมากขึ้น แนวคิดในการพัฒนามนุษย์และพัฒนาแรงงานควรจะเป็นอย่างไร แนวคิดความมั่นคงในชีวิตคืออะไร การใช้ชีวิตรวมทั้งการพัฒนาที่สมดุลควรเป็นอย่างไร จะสามารถกระจายทรัพยากรให้คนทุกกลุ่มตามแนวคิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ได้อย่างไร จะมีโครงสร้างสังคมที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆรวมทั้งโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกอย่างไร จะวางแผนการพัฒนาให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้อย่างไร การพยายามหาคำตอบกับประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้จัดลำดับความสำคัญ วางทิศทางการพัฒนาและกระบวนการ รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องและการ)ฎิบัติการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยกระดับความสุขมวลรวมของสังคมให้เพิ่มขึ้นได้
ผศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์
เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์)
วันความสุขสากล 20 มีนาคม 2564
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
Clark, A.E., P. Frijters, and M.A. Shields (2008). Relative Income, Happiness and Utility: An Explanation for the Easterlin Paradox and Other Puzzles. Journal of Economic Literature, 46(1), 95-144 ·
Easterlin, R (1974). Does Economic Growth Improve the Human Lot? Some Empirical Evidence in P.A. David and M.W. Reder (Eds.), Nations and Households in Economic Growth: Essays in Honor of Moses Abramowitz, New York and London: Academic Press, 89-125.
Kittiprapas, S. (2020). ‘ Happiness determinants in a Buddhist community: Where Inner Happiness Matters’, Thammasat Review of Economic and Social Policy (TRESP), 6 (1), 84-134.
Kusago, T. (2006). Rethinking of Economic Growth and Life Satisfaction in Post-WWII Japan – A Fresh Approach. Social Indicator Research, 00: 1-24.