กรมอนามัย 1 มี.ค.-กรมอนามัย ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด ยกระดับมาตรการคุมเข้ม ในการควบคุม กำกับ ดูแลตลาด ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ตลาดสุชาติ และตลาดพรพัฒน์ พื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่ผ่านมานั้น พบว่าสถานประกอบกิจการตลาดส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ดำเนินการประเมินสถานประกอบกิจการผ่านแพลตฟอร์ม Thai STOP COVID และขาดมาตรการคัดกรองโรคอย่างเคร่งครัด จึงไม่สามารถคัดแยกผู้ป่วยและผู้ไม่ป่วยได้ ประกอบกับการดูแลสภาพแวดล้อมและระบบระบายอากาศที่ยังไม่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมถึงพฤติกรรมส่วนบุคคลของผู้ขายของ ผู้ช่วยขายของ หรือผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เข้ามารับบริการที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาที่เข้ามาในตลาด
กรมอนามัยจึงได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดยกระดับมาตรการในการควบคุม กำกับ ดูแลตลาดและสถานประกอบกิจการประเภทอื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกำกับดูแลให้ราชการส่วนท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขแก่ผู้ประกอบกิจการตลาดและผู้ประกอบกิจการประเภทอื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลและสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้ขายของ ผู้ช่วยขายของหรือผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เข้ามารับบริการ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการและประชาชนให้ใช้แพลตฟอร์ม Thai STOP COVID และไทยชนะด้วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรณีที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อและมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาด สามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ได้ดังนี้
1) ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยออกคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการตลาดทันที หากผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและปรับอีกไม่เกินวันละ 25,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป
2) ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกคำสั่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยออกคำสั่งให้เจ้าของวัตถุหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุนี้ระงับการกระทำหรือกระทำการใดๆ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายนี้ได้ตามสมควร หากผู้ประกอบกิจการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) เจ้าพนักงานสาธารณสุข อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้กระทำการไม่ถูกต้อง แก้ไขหรือระงับเหตุนั้น หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขหรือระบุเหตุนั้นได้ตามสมควร แล้วให้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ หากผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานสาธารณสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครและจังหวัดอาจประสานการบังคับใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดต่อไป .-สำนักข่าวไทย