สธ.9 ธ.ค.-“อนุทิน” ประกาศพร้อม 4 หน่วยงาน MOU 1 ม.ค. 64 เริ่ม “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ลดภาวะล้ม ละลายของครัวเรือนจากค่ารักษาพยาบาล พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหน ก็ได้ที่พร้อม” เริ่มในวันที่ 1มกราคม 2564 นี้ เป็น 1 ใน 4 บริการใหม่ตามนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในก้าวย่างที่สำคัญของระบบบัตรทอง จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สปสช. ได้นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้
จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและต้องรับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้ลุกลามโดยโรคมะเร็งบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับบริการทันท่วงที แต่ที่ผ่านมาด้วยขั้นตอนการส่งตัวบางครั้งอาจทำให้การเข้าถึงการรักษาล่าช้าและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหาจนนำมาสู่นโยบายนี้ ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดระยะเวลาการรอคอย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย จากนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้ มีศักยภาพใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบายนี้และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งสามารถเลือกไปรับการรักษาในหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการให้บริการโรคมะเร็ง แพทย์ผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ประสานการส่งต่อโรคมะเร็ง เพื่อจัดหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษามะเร็ง และไม่แออัดให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยในการรับบริการรักษา และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเหมือนในอดีต
นอกจากนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้พัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based เป็นเครื่องมือช่วยส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาแพลทฟอร์ม The ONE ช่วยสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสามารถจองคิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย จองคิวการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัดผ่านแพลทฟอร์มนี้ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโปรแกรม DMS Bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อขอรับคำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ (Tele-Consult) ในการนัดรับยา โดยผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน่วยบริการรักษาโรคมะเร็งในระบบกระจายทั่วทุกเขต เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 36 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปด้านเคมีบำบัด 164 แห่ง เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนการจัดบริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy)
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ให้บริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน 7 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี และโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี นอกจากนี้ สปสช. ได้เตรียมระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อรองรับนโยบายนี้.-สำนักข่าวไทย