บมจ.อสมท 27 พ.ย.-17 สถาบันวิชาการ วิชาชีพสื่อและหน่วยงานรัฐ จับมือภาคีแก้ปัญหาข่าวปลอม เปิดตัวหลักสูตร FAKE NEWS FIGHTER สร้างกลไกตรวจสอบข่าวปลอมแก่นักสื่อสารมวลขนในอนาคต
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และศูนย์ชวร์ก่อนแชร์ พร้อมภาคีเครือข่ายสร้างองค์ความรู้และกลไกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม เปิดตัวความร่วมมือโครงการ “FAKE NEWS FIGHTER” พร้อมสาธิตหลักสูตร อบรมเชิงปฏิบัติการที่มุ่งสร้างกลไกFact Checking โดยบทบาทของFact Checker ในห้องข่าวจำลองสำหรับผู้ผลิตสื่อในอนาคต หวังลดการแพร่ระบาดของข่าวปลอม ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท รศ.ประไพพิศ มุทิตาเจริญ รักษาการคณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคีเครือข่ายร่วมงาน
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการFAKE NEWS FIGHTER มีวัตถุประสค์ เน้นให้นิสิตนักศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งจะเป็นนักสื่อสารมวลชนในอนาคต ได้มีความรู้และตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบของปัญหาข่าวปลอม สามารถแยกแยะตรวจสอบข่าวปลอมได้ ทำให้ทั้งนักวิชาการและนักวิชาอนาคต ได้นำหลักสูตรนี้ใช้ในการเรียน การสอน และการฝึกอบรม
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการ FAKE NEWS FIGHTER การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างองค์ความรู้และกลไกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอมเป็นปัญหาระดับชาติ ปัจจุบันยังมีช่องว่างของการขาดแคลนองค์ความรู้และขาดผู้สอน ทางด้านการป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายอยู่บนสื่อติจิทัลโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้สอนทางด้านสื่อสารมวลชน ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรและคู่มือ FAKE NEWS FIGHTER จะเป็นประโยชน์ให้แก่ทุกหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อไปช่วยปิดช่องว่างนี้ นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนยังสามารถนำหลักสูตรและคู่มือไปใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนได้ โดยสิ่งจำเป็นสำหรับห้องข่าวในอนาคต คือ กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checking รวมถึงบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ ซึ่งมักเรียกตำแหน่งนี้ว่า Fact Checker ที่จะช่วยให้กระบวนการผลิตข่าวไม่ว่าทางสื่อใดก็ตาม จะไหวรู้ต่อข่าวปลอม หรือ ข้อมูลเท็จที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมยุคนี้
สำหรับหลักสูตร FAKE NEWS FIGHTER ได้ผ่านการจัดอบรมให้แก่นิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือของโครงการมาแล้วทั่วทุกภูมิภาค ทั้งที่เชียงราย มหาสารคาม ปัตตานี และกรุงเทพมหานคร โดยวิทยากรจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท
ภายในงานยังมีการประกาศผลการประกวดกิจกรรมรณรงค์ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม ผลกระทบและแนวทางการแก้ไข ในรูปแบบคลิปวิดีโอสำหรับเผยแพร่สู่ประชาชน ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการอบรมจากโครงการ ได้สร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวดอย่างน่าสนใจ
สำหรับภาคีเครือข่าย 17สถาบันของFAKE NEWS FIGHTER ประกอบ ด้วย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาลัยนวัตกรรม หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาสัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.-สำนักข่าวไทย