ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก 4 พ.ย.-“อังคณา-อัญชนา”นักปกป้องสิทธิฯ ฟ้องแพ่ง สำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแล กอ.รมน.-กองทัพบก ทำ IO บิดเบือนข้อมูล ผ่านเว็บไซต์
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้และทนายความ ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และกองทัพบก กรณีบิดเบือนข้อมูลใส่ร้าย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ซึ่งภายหลังตัวแทนของ กอ.รมน.ได้แถลงข่าวยอมรับว่าเป็นเว็บไซต์ของ กอ.รมน.จริง ที่ศาลแพ่ง รัชดา
นางอังคณา กล่าวว่า การฟ้องร้องคดีในครั้งนี้ เนื่องจากตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO(ไอโอ) มาตลอดตั้งแต่การทำงานสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะทุกครั้งที่ให้ความเห็นต่อการปฎิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน มักจะถูกโจมตี ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จและบิดเบือนทางสื่อออนไลน์ทำให้เกิดความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง รวมทั้งมีการใช้เรื่องเพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ที่ผ่านมาได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับาชญากรรม ทางเทคโนโลยี(ปอท.) และสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ให้เป็นที่พึ่งในการอำนวยความยุติธรรม
นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2563 มีการอภิปรายงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยรายงานการใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ที่ให้การสนับสนุนสื่อออนไลน์ ในการทำข่าวสารเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลกล่าวหาตัวเองมาโดยตลอด
น.ส.อัญชนา เปิดเผยว่า ส่วนตัวถูกกล่าวหาด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลังจากที่ทำรายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งอ้างยังว่า เคยถูกคุกคามครอบครัวด้วย
สำหรับการฟ้องคดีนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่1เนื่องจาก กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรีส่วนจำเลยที่2 คือกองทัพบก
โดยในคำฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ร่วมกัน หรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางอังคณา จำนวน 3 ล้านบาท และให้กับนางอัญชนา จำนวน 2 ล้านบาท รวม 5 ล้านบาท เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตประชาชน. –สำนักข่าวไทย