สำนักข่าวไทย 29 ก.ย.-อธิบดีกรมกิจการเด็กฯ เผยเตรียมประสานโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เข้าไปประเมินสภาพจิตใจเด็กชั้นอื่นๆ เพิ่ม เพื่อเก็บข้อมูลการถูกกระทำความรุนแรง พร้อมตั้งกลุ่มไลน์ นำนักจิตวิทยา มาให้คำปรึกษาผู้ปกครองเด็ก ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเชิญผู้ปกครองเด็กที่ถูกกระทำ มาประเมินสภาพจิตใจก่อนหาวิธีฟื้นฟูต่อไป
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงแนวทางเยียวยาและช่วยเหลือกรณีเด็กนักเรียนอนุบาลโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ถูกครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกาย ว่า หลังจากผู้ปกครองเข้าแจ้งความแล้ว ทางกรมฯ ได้ให้คำแนะเพื่อนำเด็กไปตรวจร่างกายประกอบการแจ้งความแล้ว รวมทั้งได้ดำเนินการตั้งกลุ่มไลน์สำหรับผู้ปกครองของเด็กที่ถูก “ครูจุ๋ม” ทำร้าย จำนวน 28 คน โดยภายในกลุ่มนั้น จะมีนักจิตวิทยา นักสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ กระทรวง พม. นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้คำปรึกษา ในด้านต่าง ๆ กับผู้ปกครอง
และวันนี้เชิญจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ของโรงพยายาลศรีธัญญา เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จังหวัดนนทบุรี มาร่วมกันคัดแยกน้องที่ถูกกระทำ โดยมีทั้งผู้ปกครองและน้องๆที่ถูกกระทำมาที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นนทบุรี เบื้องต้น ทางทีมแพทย์จะร่วมกันประเมินว่า เด็กถูกกระทำรุนแรงในระดับไหน โดยวันพรุ่งนี้ (30ก.ย.) จังหวัดนนทบุรี จะประชุมคณะอนุกรรมการทีมสหวิชาชีพ ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อนำผลที่ได้จากวันนี้มาวางแผนในการช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากเด็กแต่ละคนถูกกระทำที่แตกต่างกัน บางคนถูกกระทำซ้ำๆ ต้องใช้เวลาในการเยียวยา
ทั้งนี้ การช่วยเหลือในส่วนของ พม. ผู้ปกครองและเด็กได้รับความกระทบทางจิตใจ นอกจากบาดแผลทางร่างกายแล้ว การเยียวยาจิตใจสำคัญที่สุด บางคนถึงขั้นนอนละเมอ ร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน แสดงถึงการฝังลงไปในจิตใจของเด็กแล้ว ดังนั้น ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน จะช่วยกันกับทางผู้ปกครองในการช่วยเยียวยาสภาพจิตใจเด็ก ต้องใช้ระยะเวลาในการทำให้เด็กมีความมั่นใจ กล้าเล่า และสร้างความไว้วางใจ
“วันนี้เมื่อผู้ปกครองกับเด็กเข้าไปที่บ้านพักจะทราบว่าความรุนแรง ที่เกิดขึ้นระดับไหน เด็กจะกล้าเล่าหรือไม่ และยังมีความหวาดกลัวอยู่ขนาดไหน ถูกกระทำมาเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ หากเด็กถูกกระทำซ้ำจะมีผลต่อพฤติกรรมในอนาคต ส่วนนี้จะทำให้สามารถประเมินได้เบื้องต้น เพื่อจะนำไปเป็นข้อมูลในการประชุมทีมสหวิชาชีพ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการหาวิธีในการเยียวยาต่อไป” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว
นอกจากนี้ทางกรมฯ จะประสานไปยังโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เพื่อขอเข้าไปประเมินผล นักเรียนห้องอื่นๆ และชั้นอื่นๆด้วยว่า ถูกกระทำความรุนแรง หรือได้รับผลกระทบอีกหรือไม่ เพื่อเข้าไปเยียวยาและเก็บข้อมูลว่ามีการกระทำความรุนแรงในลักษณะเช่นนี้มาเป็นระยะเวลานานขนาดไหน เนื่องจากทราบครูที่ตกเป็นข่าวทำงานที่โรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 7-8 ปีแล้ว การเข้าไปประเมินจะทำให้ทราบว่าเด็กถูกกระทำมานานขนาดไหน
ในภาพรวมการเยียวยาจิตใจต้องใช้นักจิตวิทยา และครอบครัว เป็นหลัก วิธีการเยียวยาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ในการฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก เนื่องจากผู้ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงจะไม่ค่อยกล้าเล่า
สำหรับสถิติความรุนแรงในโรงเรียนในรอบปี 2563 ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้รับรายงาน พบว่า มี 15 กรณี (เคส) ทั่วประเทศ เช่น การตบหัวเด็ก การหยิก การตี ซึ่งการหยิกพบมากที่สุด
ยอมรับเป็นห่วงสภาพจิตใจเด็กที่ถูกกระทำ หากไม่ได้รับการเยียวยาและอยู่ในสภาพเดิมๆ และถูกกระทำซ้ำๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคต ที่จะกระทำความรุนแรงได้ ดังนั้นผู้ปกครองและโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการปรับสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้น่าอยู่ อบอุ่น ปราศจากความรุนแรง .-สำนักข่าวไทย