กทม. 24 ก.ย.- กทม.เร่งแก้น้ำท่วมในจุดเสี่ยงพระราม 9 ซอย 7 ขยายบ่อสูบและเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ยอมรับเหตุน้ำท่วมหลายจุดวานนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสูงสุดถึง 100 มิลลิเมตร เกินศักยภาพการระบายน้ำของ กทม.
นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงถึงสถานการณ์หลังเกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) ว่า เมื่อวานนี้ทางสำนักการระบายน้ำได้ตรวจพบว่ามีปริมาณฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท ซึ่งมีปริมาณฝนสูงสุดในเขตดินแดง ประมาณ 100 มิลลิเมตร เขตพญาไท 99 มิลลิเมตร และเขตห้วยขวาง 83 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่อีก 17 จุด ในถนนสายหลัก รวมทั้งตามตรอกซอกซอยต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาในการระบายน้ำประมาณ 2-2.30 ชั่วโมง ก็เข้าสู่ภาวะปกติ
โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายและเร่งรัดให้สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ สู่อุโมงค์ระบายน้ำที่มีการก่อสร้างไว้รองรับการระบาย โดยยอมรับว่า ถ้ามีปริมาณน้ำฝนสูงเกิน 60 มิลลิเมตร จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หรือน้ำรอระบายในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ถือว่าเป็นปริมาณฝนตกหนักมาก โดยภายใน 15 นาที มีปริมาณฝนสูงถึง 100 มิลลิเมตร ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส่วนพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมหนักเมื่อวานนี้ มี 2 จุดใหญ่ คือ บริเวณแยกประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง และ ถ.พระราม 9 ซอย 7 หรือซอย อสมท โดยนายอนุชิต พิพิธกุล อำนวยการเขตห้วยขวาง ชี้แจงว่า เนื่องจากซอยนี้เป็นถนนส่วนบุคคล พื้นที่มีลักษณะต่ำกว่า ถ.พระราม 9 โดยเฉพาะบริเวณกลางซอยที่มีระดับต่ำสุด ต่ำกว่าระดับ ถ.พระราม 9 ถึง 90 เซนติเมตร และเป็นจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมสูงสุด โดยการแก้ปัญหาได้เร่งสูบน้ำลงลำรางสาธารณะและบ่อสูบน้ำ เพื่อดึงน้ำลอดใต้ ถ.พระราม 9 เพื่อไปสถานีสูบน้ำระบายลงคลองสามเสน ซึ่งสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเวลา 02.00 น. วันนี้ (24 ก.ย.)
ขณะเดียวกัน ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อสูบน้ำบริเวณปากซอยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการระบายน้ำออกจากซอยให้เร็วขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
ผอ.เขตห้วยขวาง ยังได้กล่าวขอโทษประชาชนและผู้ที่ใช้เส้นทางในซอยพระราม 9 ซอย 7 ที่ต้องประสบกับปัญหามาต่อเนื่องยาวนาน แม้สำนักงานเขตฯ ได้แก้ปัญหาโดยการเจรจากับนิติบุคคลเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ยกพื้นที่ถนนเป็นของรัฐ แต่นิติบุคคลดังกล่าวระบุว่ายังติดปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่สามารถยกพื้นที่ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ได้ ดังนั้น กทม.จึงไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร.-สำนักข่าวไทย