ม.เกษตรฯ 20 ส.ค.-“นพ.ยง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ชี้ซากเชื้อไม่ใช่เชื้อไวรัสทั้งหมด เป็นเพียงชิ้นส่วนสารพันธุกรรมหรือ RNA เท่านั้น ไม่ใช่ตัวไวรัส
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีผู้ป่วย ที่พบว่ามีซากเชื้อ โควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวานนี้ว่า
การตรวจไวรัสปัจจุบันเป็นการตรวจที่มีความไวสูงมาก เป็นการตรวจหา RNA หรือสารพันธุกรรมของไวรัส และการตรวจพบ RNA คือการตรวจพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัส ไม่ได้เป็นการบอกว่าไวรัสนั้นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และตรวจหาRNAนี้ พบได้แม้มีไวรัสจำนวนน้อยมาก เช่น มีการปนเปื้อนเข้ามาในกุ้งแช่แข็งที่มาจากต่างประเทศก็ยังสามารถตรวจพบได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การตรวจพบ RNA จึงต้องนำสิ่งอื่นมาประกอบกันด้วย เช่น
โอกาสแพร่กระจายเชื้อมีได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ในเคสนี้เมื่อตรวจพบว่ามี RNA ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ จึงมีความหมาย ดังนี้
1 .ผู้ป่วยมีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ต่างประเทศและเชื้อยังคงอยู่ในร่างกายต่อเนื่องจนกระทั่งอยู่ใน state quarantine โดยไม่แสดงอาการ เมื่อครบกำหนด 14วันยังคงตรวจพบชิ้นส่วนของ RNAที่ยังหลงเหลืออยู่
โดย ศ.นพ ยง ได้ยกตัวอย่างจากการศึกษา ร่วมกันของสำนักอนามัย กรมควบคุมโรคกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นำคนที่หายจากโควิด-19 แล้ว 200 กว่าคน และมีผลตรวจเป็นลบ มีสุขภาพดีแล้วมาตรวจ หาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ยังสามารถตรวจพบRNA ของเชื้อไวรัสได้และคนที่ถูกตรวจพบ RNA ในระยะเวลานานที่สุด หลังถูกกักตัว 14 วันแล้ว กินเวลานานถึง 105 วัน ซึ่งได้มีการติดตามตรวจหาเชื้อ ในญาติพี่น้อง ของผู้ที่ถูกตรวจพบRNA ก็ไม่มีใครติดโควิด-19 แต่อย่างใด
2.อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงถูกกักตัว ผู้ป่วย อาจไปรับเชื้อเพิ่มจากผู้ที่ถูกกักตัวอยู่ด้วยกัน ในระยะท้ายของ 14 วัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นไปได้น้อยมาก เพราะการกักตัวจะเข้มข้นมาก ไม่ให้มีการสัมผัสระหว่างผู้ถูกกักตัวด้วยกัน
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า หลัง 14 วันของการอยู่ในสเตท ควอรันทีน มีการแนะนำให้ทุคุณกับตัวเองอยู่ที่บ้านต่ออีก 14 วัน รวมเป็น 28 วันซึ่งโอกาสที่จะแพร่เชื้อเป็นไปได้น้อย
ส่วนอีกกรณีหนึ่งมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ ระยะฟักตัวของโควิด-19 จะเกิน 14 วัน ซึ่งตนได้โพสต์ไปเมื่อเช้าว่าระยะฟักตัวของไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่ 2ถึง 7วันและมีส่วนน้อยที่ใช้เวลา 14 วัน และส่วนน้อยมากๆใช้เวลา 21 วัน นั่นเป็นเหตุผลที่ให้กักตัวต่อที่บ้านอีก 14 วันซึ่งตนเชื่อแน่ว่าจะหมดโอกาสการแพร่เชื้ออย่างแน่นอน
ส่วนความสงสัยค้างคาใจคนทั่วไปที่ว่าซากเชื้อหรือที่ตรวจพบในผู้ป่วยทั้งสองสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้หรือไม่นั้นถ้ามีการตรวจเพาะเชื้อแล้ว ไม่มีเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นแปลว่าเชื้อนั้นไม่มีชีวิตแล้วและไม่สามารถแพร่กระจายได้นั่นเอง.-สำนักข่าวไทย