กรุงเทพฯ18 ส.ค.-นักวิชาการด้านการศึกษา เรียกร้องให้ผู้บริหารโรงเรียน เปิดใจรับฟังการแสดงออกทางการเมืองของเด็กนักเรียน โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการคิดต่าง ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งผลักเด็กออกไปชุมนุมบนถนน ขณะที่นักเรียนอย่ามองครูคือคู่ขัดแย้ง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการแสดงออกทางการเมือง และการชู3นิ้ว เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ ในเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ของกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ว่า การมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนตัวมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่มีแรงกดดันจากหน่วยงานต้นสังกัดที่คาดหวังว่าครูต้องควบคุมทุกอย่าง ซึ่งต้นสังกัดของครูต้องเข้าใจก่อนว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการควบคุม แต่คือการประคับประคองบรรยากาศทางสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ในความเห็นต่าง รวมถึงเด็กที่อยู่ในวัยที่มีประสบการร์แตกต่างจากผู้ใหญ่ จะต้องสามารถพูดคุยสื่อสารระหว่างกันได้
ย้ำว่า โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าโรงเรียนไม่เป็นพื้นที่เหล่านั้น เท่ากับกำลังผลักให้เด็กต้องออกไปบนถนน ออกไปสื่อสารกับสังคมวงกว้างที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณครูจะดูแลไม่ได้อีกต่อไป หากเด็กๆต้องไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เด็กๆอาจจะแต่งตัวไปรเวท เราจะไม่สามารถแยกออกเลยว่า เมื่อเด็กเหล่านี้ไปรวมกลุ่มกับผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่จะเป็นอย่างไร เนื่องจากนอกโรงเรียนมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทุกคนจะต้องเสียใจ เพราะวันที่เด็กขอพื้นที่ในโรงเรียนเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำไมถึงปิดประตูเด็ก มานั่งไล่บี้เด็กว่าใครคือแกนนำ ใครเป็นตัวต้นเหตุ ส่วนตัวมองว่า ผู้ใหญ่ต้องใจกว้าง ต้องรับฟังมากๆ
ทั้งนี้ เห็นใจคุณครูและผู้บริหารทุกคนเพราะเป็นคนตรงกลางระหว่างต้นสังกัด พร้อมมองว่าขณะที่ผู้ใหญ่ยังมีความเห็นต่าง แล้วเด็กที่คิดต่างจะขอความเห็นใจจากผู้ใหญ่ไม่ได้หรือ ทำไมผู้ใหญ่เข้าใจเด็กไม่ได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ใหญ่ต้องหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องตีความเชิงบวกด้วยว่า เยาวชนของชาติตื่นตัวเรื่องสังคม สนใจบ้านเมือง ไม่ละเลยเพิกเฉย ทำอย่างไรจะทำให้มีพื้นที่ในการคุยกันระหว่างครูนักเรียน หลายโรงเรียนที่ไม่เกิดบรรยากาศของความขัดแย้ง เนื่องจากมีผู้ใหญ่เข้าใจ ให้พื้นที่เด็กในการแสดงความคิดเห็นได้ อย่างน้อยที่สุดให้ใช้พื้นที่โรงเรียนในการแสดงความคิดและบอกความต้องการของเด็ก
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า สิ่งที่เด็กแสดงออกวันนี้ มองว่าไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่ชอบด้วยสิทธิปกติที่มนุษย์พึงมี เพื่อบอกว่าตัวเองเป็นใคร คิดอย่างไร และด้วยวัยของเด็กเป็นวัยที่มีความเร่าร้อน อยากจะแสดงออก อยากให้คนได้เห็น ได้รู้ ผู้ใหญ่ ครูยิ่งต้องประคับประคองกัน ให้พฤติกรรมที่มีความกระตือรือร้นของเด็กถูกใช้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่เพื่อตั้งป้อมเป็นศัตรูกับใคร ซึ่งครูต้องไม่วางตัวเป็นคู่ขัดแย้งของเด็ก การใช้กำลัง ใช้วาจาในการข่มขู่คุกคาม หรือยึดโทรศัพท์ เรียกเข้าห้องปกครองหรือขู่ว่าจะเรียกตำรวจมาจับ เหล่านี้คือสิ่งที่ผลักให้เด็กเป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อเด็กมองว่าตัวเองถูกผลักให้เป็นคู่ขัดแย้งจะไม่เหลือพื้นที่ในการคุยกันในโรงเรียน เด็กก็จะออกไปคุยกันข้างนอก ซึ่งจะทำให้ครูไม่สามารถประคับประคองได้อีกต่อไป เรื่องสำคัญคือเด็กโตเกินกว่าจะถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมต้องตื่นรู้ว่าทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย ซึ่งตลอด 6-7 ปี ที่ผ่านมา มีนโยบายรัฐเยอะมากที่ลงไปที่โรงเรียน และกำหนดกฏเกณฑ์ ให้เด็กต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งมองว่า สิ่งเหล่านี้เหมือนการรดน้ำเติมปุ๋ยให้ความรู้สึกไม่พอใจที่มีอยู่ เบ่งบานออกมา ยิ่งเด็กโตขึ้น และบรรยากาศสังคมเอื้อให้คนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงในการส่งเสียงในการทำหน้าที่พลเมือง จึงอยากให้ผู้ใหญ่มองว่า ดอกไม้บานได้ เพราะมีปุ๋ยรด มีน้ำรด เราใช้อำนาจกดเด็กมานานมาก มีนโยบายหลายอย่างที่ไม่ได้รับฟังเสียงของเด็กๆ และวันนี้เด็กตระหนักในพลังของตัวเอง ดอกไม้เลยต้องบาน เพื่อส่งเสียงว่า เด็กๆมองและคิดอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องเคารพในสิ่งที่เด็กคิด และทบทวนตัวเอง เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมและโรงเรียนให้ได้
“การห้ามไม่ใช่ทางออก เพราะไม่สามารถห้ามหรือห้ามความคิดใครได้ มองว่าเรื่องนี้ท้าทายกับผู้ใหญ่ จะใจเย็นมากพอกับเด็กกำลังหุนหันพลันแล่น พร้อมออกมาเคลื่อนไหว สำคัญคือการเปิดใจรับฟัง และผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการรับฟังและเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หากบ้านและโรงเรียนไม่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพวกเด็ก ยิ่งผลักให้เด็กอยู่กับเพื่อน โลกไซเบอร์อยู่กับพื้นที่ชุมนุมนอกโรงเรียน อย่าเข้าใจว่าเด็กถูกล้างสมองหรือถูกใครปั่นหัว เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้และสังเกตุมากขึ้น จึงอยากเรียกร้องภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน ในการสื่สารกับนักเรียนและต้นสังกัดอย่างไร จะเป็นผู้รับคำสั่งแล้วมากดครูและนักเรียนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องให้เสียงย้อนกลับไปยังต้นสังกัดว่าไม่ง่ายที่จะสั่งการได้ เพราะบรรยากาศสังคมตอนนี้ต้องการการสื่อสารและคุยกัน การฟังหายไปจากโรงเรียนและสังคมไทยอย่างมาก” นายอรรถพล กล่าว .-สำนักข่าวไทย