สธ.15 ส.ค..-กรมควบคุมโรค แนะถ้าไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ตั้งแต่ต้นปี พบผู้ป่วยแล้ว 1,093 ราย ใน 43 จังหวัด เสียชีวิต 7 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ระหว่าง วันที่ 1 ม.ค.–13 ส.ค. 63 พบผู้ป่วยแล้ว 1,093 ราย ใน 43 จังหวัด เสียชีวิต 7 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คืออายุมากกว่า 65 ปี (24.43 %) รองลงมาคืออายุ 45-54 ปี (23.06 %) และอายุ 55-64 ปี (20.13 %) โดยมีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบข่าวการระบาดของกรมควบคุมโรค (ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน) 13 เหตุการณ์ รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 63 ราย ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในเดือน มิ.ย. รองลงมาคือ ก.ค. และ ส.ค. ส่วนภูมิภาคที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันและมีอาการป่วยรุนแรง 9 ราย ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี”
คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลายชนิดโดยเฉพาะ เห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ โดยมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ ประกอบกับความเข้าใจและความเชื่อในการลดพิษของเห็ดหรือวิธีทดสอบเห็ดพิษ ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ให้แน่ชัดได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ การจำแนกเห็ดพิษไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ประชาชนจึงควรตระหนักและระมัดระวังในการนำเห็ดมารับประทาน อาการที่สังเกตได้หลังรับประทานเห็ดพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ภายใน 6–24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงจะทำให้เกิดภาวะไต/ตับวาย จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หลังรับประทานเห็ด ควรรีบปฐมพยาบาลให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน (activated charcoal) และดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และห้ามล้างท้องโดยการสวนทวารโดยเด็ดขาดเพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้หากผู้ป่วยขาดน้ำ แล้วให้รีบนำไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้ประวัติการรับประทานอาหารย้อนหลัง พร้อมนำตัวอย่างเห็ดและอาหารที่เหลือจากการรับประทานไปตรวจวิเคราะห์ด้วย ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชนว่าหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงเห็ดจากธรรมชาติ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ประชาชนสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 .-สำนักข่าวไทย