สธ. 8 ก.ค. – สธ. ยันร้านกัญชายังเปิดต่อได้ แต่ต้องมีตามใบสั่งแพทย์ ย้ำเป็นการออกมาตรการควบคุม เปิดทางร้านปรับตัวก่อนคุมเข้มเต็มรูปแบบ เผยข้อกำหนดร้านจำหน่ายให้ได้เฉพาะผู้มีใบสั่งแพทย์ พร้อมเปิดคอร์สอบรมผู้มีสิทธิสั่งจ่ายช่อดอกกัญชา รองรับให้ในอนาคตแต่ละร้านมีแพทย์ประจำ พร้อมเร่งออกกฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่ายกัญชาเพิ่มเติม
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริง “กัญชาทางการแพทย์” โดยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าหลังจากกลุ่มเขียนเครือข่ายอนาคตกัญชาไทย ยื่น 3 ข้อเรียกร้องนั้น เข้ามายื่นข้อเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข คือ 1.คัดค้านการนำกัญชาเข้าสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดให้โทษ ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีมาตรการนี้เกิดขึ้น 2.การให้คงสถานะกัญชาเป็นพืชสมุนไพร โดยให้มีพระราชบัญญัติควบคุม ไม่ให้ใช้ประกาศสมุนไพรควบคุม ตนขอชี้แจงว่าขณะนี้มีการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ และอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติต่อไป และ 3.การให้ตั้งคณะกรรมการร่วมในการออกประกาศกระทรวงใดๆ ที่จะใช้แก้ปัญหาได้จริง เรื่องนี้ตนยืนยันว่าได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง
หลังจากที่กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว พบว่ามีประชาชนใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 10 เท่า ทำให้สังคมไม่สบายใจ จึงออกประกาศสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2568 เพื่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยการสั่งจ่ายยาจากแพทย์ 7 วิชาชีพตามประกาศ รวมถึงควบคุมแหล่งผลิตที่มีมาตรฐานการปลูก เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค นอกจากนั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ออกประกาศแบบสั่งจ่ายยา ภ.ท.33 เพื่อให้ร้านขายกัญชาขายตามใบสั่งแพทย์ เพื่อให้มีการตรวจสอบที่มากัญชาและการจำหน่ายออกไป
ย้ำว่าผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องก็สามารถดำเนินได้ต่อไป โดยพร้อมรับฟังความเห็น ข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายอนาคตกัญชาไทย ซึ่งไม่เฉพาะกัญชา เรื่องของกระท่อม สธ.ก็ได้ดำเนินการจับกุมพวกที่นำกระท่อมไปผสม เช่น ยาแก้ไอ น้ำผลไม้ โดยจับกุมได้ต่อเนื่อง ยืนยันว่าร้านกัญชา 18,000 แห่ง ที่เปิดอยู่ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแค่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านให้ร้านเหล่านี้ทราบถึงแนวทางและปฏิบัติตาม
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งร้านค้าต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปรับตัวตามประกาศฉบับใหม่ ดำเนินการ 2 ส่วนคือ การเตรียมให้กัญชาที่จะนำมาใช้มีมาตรฐาน และการเตรียมแพทย์ที่จะเป็นผู้ออกใบสั่งจ่ายกัญชาที่ผ่านการอบรมให้เพียงพอ โดยข้อแรกกัญชาที่ได้มาตรฐานในที่นี้หมายถึงกัญชาที่ได้รับการปลูกไปตามมาตรฐานไม่ให้ปนเปื้อนโลหะหนัก เชื้อรา จุลินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยกับผู้บริโภค
ปัจจุบันมีแปลงปลูกที่ผ่านมาตรฐาน ทั้งหมด 69 แห่งปริมาณการผลิตช่อดอกแห้ง 71 ตันต่อปี ในจำนวนนี้ส่งออก 24 ตันต่อปี โดยมีแปลงที่อยู่ระหว่างการประเมิน 51 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีปริมาณการผลิตในอนาคต 125 ตันต่อปี ส่งออกได้ 41 ตันต่อปี ขณะที่ปัจจุบันมีร้านค้า 18,651 ร้านค้า ปริมาณการบริโภคในประเทศ ประมาณ 47 ตันต่อปี ซึ่งพบว่ามีการปลูกที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้มาตรฐาน อีกกว่า 3-4 พันแห่ง และนำมาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องแพทย์ที่จ่ายใบ ภ.ท.33 นั้น กรมฯ จะมีการเปิดอบรมผ่านระบบออนไลน์และออนไซต์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม เป็นเวลา 1 วัน ทั้งนี้ มีแพทย์แผนไทยลงทะเบียนแล้ว 1,000 กว่าคน ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ระหว่างรวมรายชื่อ ซึ่งจะเปิดอบรมเรื่อย ๆ แพทย์ที่สนใจก็สามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการแพทย์ที่มาอบรมประมาณ 2,000 คน เมื่อเทียบสัดส่วนแพทย์กับร้านขายกัญชาที่ได้รับอนุญาต 18,000 ร้าน ก็จะเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อ 10 ร้านขาย ทั้งนี้ กรมฯ กำลังให้แต่ละจังหวัดรวมรายชื่อแพทย์แผนไทยที่จะเข้าอบรมเพิ่มเติม
อีกส่วนคือการอบรมผู้ประกอบการ โดยกรมฯ จะเปิดอบรมผู้จำหน่ายกัญชา ในวันที่ 17 กรกฎาคม ซึ่งจะอบรม 3 วันผ่านระบบออนไลน์และออนไซต์ คาดว่าจะมีผู้ขายกัญชาจาก 1.8 หมื่นร้านที่ได้รับใบอนุญาต เข้ารวมอบรม โดยจะ 1. อบรม Budtender (ผู้แนะนำการใช้กัญชา) โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมสมาคมผู้ประกอบการ-เครือข่าย 2. จำหน่ายช่อดอกตามใบสั่งแพทย์ (ค.ท. 33) และ3. การจำหน่ายและส่งออกสมุนไพรควบคุม ต้องมาจากแหล่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 1,565 ร้าน ภายใน 1 เดือน พักใช้ใบอนุญาต 82 ราย เพิกถอนใบอนุญาต จำนวน 5 ราย กรณีทำผิดเงื่อนไข จับกุมดำเนินคดี 7 ราย กรณีจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และพบปิดกิจการ 322 ราย
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้อนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมไปแล้วในสามกลุ่มประกอบด้วย อาหารเครื่องสำอาง และสมุนไพร และมีที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ดำเนินคดีไปแล้ว 41 ราย ส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตและมีสารปนเปื้อนมากเกินกว่าปกติ เช่นกรณีที่พบลักลอบจำหน่าย เยลลีกัญชา เป็นต้น
ด้านนายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายเพิ่มว่า ในข้อกำหนดที่ให้ส่งเอกสารรายงานทุกสิ้นเดือนตั้งแต่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา ทุกร้านต้องส่งรายงานโดยแนบใบสั่งจ่ายกัญชา เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จะเป็นช่วงสูญญากาศที่ทำความเข้าใจ ยังไม่ได้จับกุม แต่ร้านต้องถือปฏิบัติ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะออกไปให้ข้อมูลและคำแนะนำกับแต่ละร้านค้าในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งในเรื่องรายงาน ผู้รับใบอนุญาตต้องรายงานมายังกรม บังคับส่งทุก 1 เดือน หากไม่ส่งพักใช้ใบอนุญาต หรือรายงานเท็จก็พักใช้ใบอนุญาต และโดนคดีปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ
ส่วนผู้ที่ปลูกกัญชาในบ้าน ตามกฏหมายสำหรับผู้ที่ปลูกในบ้านและไม่ได้เอาไปให้ใครตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้มีโทษ แต่หากพกปริมาณที่ชัดเจนว่า เอาไปขายต่อ ก็จะถูกดำเนินคดีข้อหามีไว้เพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำนวนในตอนนี้ก่อนที่กฎกะทรวงจะออกมาระบุชัดเจน ก็สามารถประมาณได้ว่า เช่น จะมีกำหนดว่าคนหนึ่งต่อคนใช้เองส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 กรัมต่อคน หากใครพกออกมามากเกินกว่าที่คนๆ หนึ่งจะใช้ ก็ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม สธ.จะจัดทำรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับรายละเอียดต่อไป เช่น พกช่อดอกออกมาจำนวนเท่าใดที่เรียกว่าเพื่อจำหน่าย
ส่วนการดำเนินการขอต่อใบอนุญาตที่ในปีนี้จะมี 1.2 หมื่นแห่ง จากในจำนวนร้านกัญชา 1.8 หมื่นแห่ง และรายใหม่นั้นจะต้องใช้กติกาใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการอนุญาตจำหน่ายสมุนไพรควบคุมช่อดอกกัญชา โดยจะปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12 กรกฎาคม 2568 ซึ่งจะเป็นการกำหนดระเบียบต่างๆ ในการขายกัญชา ที่สำคัญคือ หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยรูปแบบในอนาคตร้านที่ขายกัญชาทุกแห่งจะต้องมีแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตสั่งจ่ายกัญชาประจำอยู่ในร้าน และผู้ประกอบการก็ต้องผ่านการอบรมเช่นกัน ดังนั้น ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะของคลินิกที่มีแพทย์อยู่ประจำ ไม่ใช่สถานประกอบการทั่วไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ถึง 12 กรกฎาคม ขอให้ทุกคนเข้าไปให้ความเห็นในเรื่องนี้. -416-สำนักข่าวไทย