กทม. 1 พ.ค.- วันแรงงานคึกคัก แรงงานเดินแสดงพลังส่งสารยื่น 9 ข้อเรียกร้อง ขอรัฐทบทวนกฎหมายให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าระบบประกันสังคม แก้ปัญหาซ้ำซากคุ้มครองสิทธิ ชี้ค่าจ้างต่ำไม่สอดคล้องยุคของแพง
แรงงานไทยทั่วประเทศร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568 กันอย่างคึกคัก มีการเดินขบวนแสดงพลังจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือป้ายเชิงสัญลักษณ์และข้อความที่สะท้อนการขับเคลื่อนและการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน เช่น จ่ายค่าจ้าง ลาคลอด 180 วัน
ขณะที่บรรยากาศลานคนเมือง บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายพนัส ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ในประเด็นข้อเรียกร้องวันแรงงาน จำนวน 9 ข้อ ต่อรัฐบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยให้ดียิ่งขึ้น อาทิ เรื่องถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างทั้งชาวไทยและต่างชาติ การปิดกิจการไม่จ่ายค่าชดเชย หรือผ่อนชำระค่าชดเชย การทำงานในวันหยุด แต่ได้แรงงานเท่าเดียว การปรับเพิ่มค่าชราภาพมากขึ้น
ขณะที่สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในทุกกรณี ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ และให้พนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และมีลักษณ์การจ่ายเงินร่วม (Co-Payment) เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย อย่างเป็นธรรม
โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับข้อร้องเรียน พร้อมกล่าวว่า กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสะท้อนเสียงของพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ ข้อเรียกร้องหลายข้อได้รับการดำเนินการอย่างใกล้ชิด ยืนยันจะเดินหน้านโยบายเชิงรุก เพื่อดูแลแรงงานอย่างรอบด้าน ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยหลักการว่า “ทุกคนต้องมีงานทำ มีทักษะ มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”เราขับเคลื่อนนโยบายแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ
ทั้งนี้ภายในงานมีจัดกิจกรรมเพื่อขอบคุณแรงงานไทย อาทิ เปิดรับสมัครงาน 174,000 อัตรา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ บริก ารตรวจสุขภาพ และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินนักร้อง
สำหรับ 9 ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ
1.ให้รัฐบาลเร่งรัดการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง
3.ให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง เมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในทุกกรณี ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจในวงเงิน 1 ล้านบาท
4.ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถอยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และมีลักษณะการจ่ายเงินร่วม (co-payment) เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง
5.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม
5.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ให้มีรายรับไม่น้อยกว่า5,000 บาท
5.2 กรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป
5.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 การคิดคำนวณเงินบำนาญขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
5.4 เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต
5.5 กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ
5.6 ขยายอายุผู้เริ่มเข้าเป็นผู้ประกันตนจากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
6.ให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ดำเนินการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม.11/1 อย่างเคร่งครัด
7.ให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงาน เป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
8.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2541กฎกระทรวงฉบับที่ 8 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2541 และกฎกระทรวงฉบับที่ 13 ลงวันที่ 27 มกราคมพ.ศ.2543 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีข้อความตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือน ที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า เช่นเดียวกับพนักงานรายวัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับทราบ และรับว่าจะดำเนินแก้ไขมาก่อนแล้ว
9.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568 .-สำนักข่าวไทย