ก.แรงงาน 9 ธ.ค. – ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น พร้อมขับเคลื่อนการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการเปิดงานประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อปรับเพดานค่าจ้าง” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายบุญสงค์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานประชุมวันนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้ฐานค่าจ้างเดิมตั้งแต่ปี 2534 ในฐานค่าจ้าง 15,000 บาท และไม่เคยมีการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีคนที่เงินเดือน 20,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท ประกันสังคมคิดตามฐานค่าจ้างเดิมคือ 15,000 บาท จึงได้มีการจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงการปรับเพดานค่าจ้างในรูปแบบขั้นบันได 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อนายจ้างและผู้ประกันตน โดยในปี 2569-2571 ปรับเป็น 17,500 บาท ในปี 2572-2574 ปรับเป็น 20,000 บาท และขั้นสุดท้ายในปี 2575 เป็นต้นไปปรับเป็น 23,000 บาท และผู้ประกันตนและนายจ้างมีความเห็นอย่างไร จะประมวลความเห็นตรงนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่พึงจะพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ดีขึ้นในอนาคต และในการประชุมในวันนี้จะเกี่ยวกับมาตรา 33 และ 39 โดยยึดความเห็นส่วนใหญ่เป็นหลัก ใช้สัดส่วนจากการแสดงความคิดเห็นเข้ามา ซึ่งตอนนี้มีคนแสดงความคิดเห็นเข้ามาแล้วประมาณ 2.5 แสนคน
ในส่วนของสิทธิประโยชน์สำนักงานประกันสังคมได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้างให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น ในกรณีคลอดบุตรในปี 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์ 4,000 บาทต่อครั้ง และในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 15,000 บาทต่อครั้ง เงินสงเคราะห์บุตรในปี 2541 ได้รับสิทธิ์ประโยชน์เป็นเงินจำนวน 150 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน ในกรณีเสียชีวิต เงินค่าทำศพในปี 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 50,000 บาท และเมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม เป็นที่มาในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนี้. -420-สำนักข่าวไทย