12 เม.ย. – เปิดตำนานพร้อมคำนายนางสงกรานต์ปี 2567 ทรงนามว่า มโหธรเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรบนหลังนกยูง เสด็จนอนลืมตา ทำนายว่าปีนี้น้ำน้อย ซึ่งแต่ละปีจะมีนางสงกรานต์ด้วยกัน 7 องค์ และจะมีคำทำนายที่ต่างกัน
ในแต่ละปีนางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำหน้าที่เปิดคำทำนาย ปีนี้นางสงกรานต์ คือ มโหธรเทวี ทัดดอกสามหาว หรือผักตบชวา มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา หรือนกยูง และการออกประกาศแต่ละปี กระทรวงวัฒนธรรมจะยึดตามหลักโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี ทำนายว่า เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ อังคารเป็นอธิบดีฝน เกณฑ์ธาราธิคุณ เป็นธาตุลม น้ำพอประมาณ พายุจัด นาคราชให้น้ำ 7 ตัว ทำนายว่า ฝนแล้ง ส่วนเกณฑ์ธัญญาหาร ข้าวกล้าในไร่นา มีด้วงและแมลงรบกวน จะได้ 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน
สำหรับตำนานนางสงกรานต์ กรมศิลปากร ระบุว่า เป็นธิดาของท้าวมหาสงกรานต์ หรือ ท้าวกบิลพรหม และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น มีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์
โดยเกณฑ์กำหนดว่า วันสงกรานต์ คือ วันที่ 13 เมษายน หากตรงกับวันใดในสัปดาห์ก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ โดยนางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ประกอบด้วย
-นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ คือ “ทุงษเทวี” เสด็จไสยาสน์เหนือครุฑ
-นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ คือ “โคราดเทวี” เสด็จประทับเหนือเสือ
-นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร คือ “รากษสเทวี” เสด็จประทับเหนือหมู
-นางสงกรานต์ประจำวันพุธ คือ “มัณฑาเทวี” เสด็จไสยาสน์เหนือลา
-นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี คือ “กิริณีเทวี” เสด็จไสยาสน์เหนือช้าง
-นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ คือ “กิมิทาเทวี” เสด็จประทับยืนเหนือควาย
นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ คือ “มโหธรเทวี” เสด็จประทับเหนือนกยูง
ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดยคำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายหรือเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน ด้วยเอกลักษณ์ประเพณีที่งดงาม สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบัน ทำให้เมื่อปลายนปี 2566 ที่ผ่านมา ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้เข้าใจสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดทำบทเพลงส่งกรานต์ภาษานานาชาติฉบับใหม่รวม 12 ภาษา นอกจากภาษาไทย มีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน สเปน อินโดนีเซีย เวียดนาม นอกจากเป็นการฉลองสงกรานต์ได้มรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังทำให้คนทั่วโลกรู้จักสงกรานต์ไทยมากขึ้น เป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยว ดึงรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลต่อปี.-สำนักข่าวไทย