กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – กทม.เปิด รพ.และศูนย์บริการสาธารณสุข บำบัดผู้ป่วยติดยา ดูแลครบวงจรด้วยนักสังคมสงเคราะห์-นักจิตวิทยา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 ว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเป็นนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมากรณีมีเด็กแทงกันในโรงเรียนอาจมีผลต่อเนื่องเรื่องบริบทของยาเสพติดในชุมชนใกล้เคียง ส่งผลต่อเนื่องมาถึงโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันแพร่ระบาดในโรงเรียน ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายที่จะเข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น
หลังมีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดมียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพต้องบำบัดรักษา ซึ่ง กทม. เป็นฝ่ายดูแล ดังนั้นขั้นตอนต่าง ๆ เรื่องการดูแล บำบัด ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด ในประเด็นการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด บางทีมีการบำบัดรักษาก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นการฟื้นฟู ก่อนจะส่งตัวกลับเข้าสู่ชุมชน ซึ่งการบำบัดรักษาต้องมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในที่ประชุมมีการหารือว่ากรณีมีผู้ป่วยมีอาการจิตเวชร่วมกับยาเสพติดจะดำเนินการอย่างไร เพราะบางครั้งผู้ป่วยมีอาการคลุ้มคลั่ง ดังนั้นอาจต้องแยกระหว่างจิตเวชและยาเสพติด และหน่วยงานที่รับดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวก็ต้องมีการกำหนดชัดเจนเช่นเดียวกัน จากนั้นจะมีการฟื้นฟูอย่างไรเพื่อให้กลับสู่ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้มีการหารือหน่วยงานต่าง ๆ กทม. เราก็มีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด บ้านพิชิตใจ แต่หากมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น ทหารอากาศ และอื่น ๆ ก็จะทำให้เรื่องการฟื้นฟูเกิดความบูรณาการกันมากขึ้น
เรื่องการขนส่งยาเสพติดผ่านพัสดุภัณฑ์ จริง ๆ แล้วยังไม่ได้มีแนวทางทางออกอย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่คิดว่าทางกรุงเทพมหานครจะช่วยได้ในการดูที่ปลายทาง หากเรารู้ว่าชุมชนใดมีงานรับ – ส่งพัสดุ ก็จะขยายผลการสืบสวนไปถึงต้นทาง
ในส่วนเรื่องการจัดทำ Sandbox ในการดูแลผู้ติดยาเสพติด นายอุดมชัย โลหณุต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. ได้พิจารณาว่า ชุมชนวังโสม ชุมชนมัจฉา ชุมชนสามัคคีพัฒนา และชุมชนริมคลองหัวหมากน้อย เขตบางกะปิ 4 ชุมชนนี้มีความเข้มแข็งที่จะสามารถพัฒนาและยกระดับให้เกิดความยั่งยืนได้ จากการลงพื้นที่และประสานงาน ได้รับทราบปัญหาจากสภาพชุมชนว่า ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องจิตเวชที่ผ่านการรักษาแล้วและกลับเข้าสู่ชุมชน แต่ไม่มีเครือญาติหรือมีเครือญาติแต่ไม่มีกำลังที่จะดูแลในเรื่องเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้เป็นภาระของชุมชน ป.ป.ส. สำนักอนามัย และ บช.น. จึงได้ร่วมกันเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการยกระดับ 4 ชุมชนดังกล่าวสู่ความเข้มแข็ง ซึ่งในวันนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้พิจารณาชุมชนเพิ่มเติมอีก 1 – 2 ชุมชน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการปรับแผนปฏิบัติการตามนโยบายการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดของนายกรัฐมนตรี ระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งได้มีการปรับแผนและตัวชี้วัดต่าง ๆ ใช้ระบบ OKR ในการดำเนินการโดยมีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 11 ตัวชี้วัด คาดว่าหากทั้งหมดบูรณาการกันจะทำให้สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้น ปัจจุบันเราเป็นห่วงเรื่องยาเสพติดในโรงเรียนอย่างยิ่ง ซึ่งก็จะเป็นสถานที่ที่ให้ความสำคัญรวมไปถึงในชุมชนด้วย
และจากที่มีประกาศหากมียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพ จะทำให้ผู้เสพในชุมชนเข้าถึงยาบ้าได้ง่ายขึ้นหรือไม่อย่างไรนั้น พล.ต.ต. ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ในส่วนตำรวจก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากพิจารณาว่าเป็นผู้เสพก็นำเข้าสู่การบำบัด ซึ่งในที่ประชุมก็ได้พูดถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด
ด้านความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการรองรับผู้เสพที่จะต้องเข้ารับการบำบัด นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ เรามีแผนกการบำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด และมีการดำเนินการที่ชัดเจนว่าเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาก็จะมีการส่งต่อไปฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น ทางศูนย์บริการสาธารณสุขก็มีการเพิ่มนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยามาเป็นทีมบำบัดเพิ่มเติม
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ก็ต้องประเมินผลกระทบอย่างละเอียดรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ด้วย เมื่อเราปฏิบัติเองก็ต้องมีการติดตามให้ดี และปรับหน่วยบริการให้สอดคล้องกับบริบทที่ต้องบำบัดผู้ป่วย และมีวิธีการคัดกรองเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจะรวมไปกับการคัดกรองยาเสพติดด้วย เนื่องจากการดำเนินการต่าง ๆ ก็เป็นไปตามกฎระเบียบของโรงเรียน ทั้งนี้เรามีแนวทางหนึ่ง คือ จะนำครูแดร์ หรือ D.A.R.E. (Drug Abuse Resistance Education) ซึ่งเป็นโครงการของตำรวจเข้าไปให้ความรู้เรื่องยาเสพติดกับนักเรียนในโรงเรียนด้วย และแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ได้เข้าข่ายยาเสพติดอย่างชัดเจน แต่ในแง่ของโรงเรียนถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม และเรามีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ในโรงเรียนให้เข้มข้นขึ้น อาจมีการคัดกรองและสุ่มตรวจเพื่อให้บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาขายหรือมายุ่งเกี่ยวกับนักเรียนของเราเกิดความเกรงกลัว รวมถึงการดำเนินการเพิ่มความปลอดภัยในโรงเรียน ห้ามบุคคลภายนอกเข้าโรงเรียน ติดตั้ง CCTV เพื่อดูแลเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าของเรา และเราดูแลเขาแทนพ่อแม่ที่ไว้ใจให้มาอยู่ในโรงเรียนของเรากว่า 250,000 คน. -417-สำนักข่าวไทย