ศธ. 26 ม.ค. – สพฐ.แจง รร.ที่นครพนม ครูคนเดียวสอนเหมา ๆ เป็นไปตามเกณฑ์อัตรากำลังของ ศธ. ไม่ได้ทอดทิ้งโรงเรียนให้อยู่ตามลำพังตามที่มีการเสนอข่าว แจงงบฯ 3 หมื่นบาท/ปี อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมสั่งการ เขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจและช่วยเหลือในด้านที่ขาดแคลนด่วน
จากกรณีที่ จ.นครพนม มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม ที่เป็นโรงเรียนชุมชนขนาดเล็ก มีครูผู้สอนเพียงคนเดียว ทั้งโรงเรียน นักเรียน 19 คน ล่าสุด นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า โรงเรียนดังกล่าว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ป.6 จำนวน 19 คน และมีบุคลากร ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน, ข้าราชการครูตำแหน่งผู้ช่วย 1 คน, พนักงานราชการตำแหน่งครู 2 คน และพนักงานธุรการ 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์อัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 40 คน สามารถมีตำแหน่งครูได้ 1-4 คน ซึ่งที่ผ่านมาทางเขตพื้นที่ได้มีการพูดคุยกับทางโรงเรียนและชุมชนในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อาทิ การยุบหรือควบรวม หรือเรียนรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่อื่น ๆ แต่ทางชุมชนไม่ต้องการให้ยุบรวมต้องการให้ยังคงอยู่เป็นสถานศึกษาต่อไป ทางเขตพื้นที่จึงได้สนับสนุนจัดสรรพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอนจำนวน 2 อัตรา เข้ามาช่วยสอนนักเรียนด้วยและมีการใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมช่วยการเรียนการสอน ซึ่งไม่ใช่เพียงโรงเรียนที่ปรากฏในข่าวเท่านั้นแต่ได้ให้การสนับสนุนทุกโรงเรียนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของการนำเสนอข่าวที่บอกว่าโรงเรียนได้รับงบประมาณจำนวน 30,000 บาท/ปีนั้น ขอชี้แจงว่าในการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียนมีเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เหมือนกันหมดทุกแห่งโดยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในระดับ ก่อนประถมศึกษาเดิมหัวละ 2,630 บาท ในปี 2566 เพิ่มเป็น 2,787 บาท ปี 2567 เพิ่มเป็น 2,915 บาท ในระดับประถมศึกษาเดิมหัวละ 3,130 บาท ในปี 2566 เพิ่มเป็น 3,267 บาท ปี 2567 เพิ่มเป็น 3,410 บาท ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เดิมหัวละ 5,250 บาท ในปี 2566 ได้เพิ่มเป็น 5,487 บาทปี 2567 เพิ่มเป็น 5,750 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เดิมหัวละ 5,710 บาท ในปี 2566 เพิ่มเป็น 5,915 บาท และปี 2567 เพิ่มเป็น 6,200 บาท ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
ซึ่งดรามาขึ้นอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรื่องงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน แต่ก็สั่งการให้มีการตรวจสอบในพื้นที่แล้วว่าเหตุใดจึงมีความเข้าใจไปแบบนั้น ย้ำว่า ”สพฐ. เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้มีการควบรวม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ จึงได้จัดให้มีพนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอนไปช่วยทำการสอนอีก 2 อัตรา เพื่อให้สอนเด็กได้ครบชั้นและธุรการจำนวน 1 อัตรา มาช่วยดูแลในเรื่องงานธุรการต่าง ๆ ของโรงเรียน ส่วนเรื่องงบประมาณก็เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรตามจำนวนนักเรียนที่มีในแต่ละปี ซึ่งหลังจากนี้ทางเขตพื้นที่ฯ นครพนม เขต 1 จะดำเนินการให้ข้อมูลกับผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจที่ตรงกันต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กอีกกว่าหมื่นโรงเรียน ศธ.ก็พยายามช่วยแก้ไข ลดภาระครู เพิ่มตำแหน่งพนักงานด้านงานธุรการเข้าไปให้ หวังให้ครูพัฒนาการเรียนการสอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด.-417-สำนักข่าวไทย