ก.ยุติธรรม 4 ม.ค. – คณะกรรมการราชทัณฑ์ เผยเตรียมพิจารณาหลักเกณฑ์ให้นักโทษที่เข้าเกณฑ์ได้คุมขังนอกเรือนจำในวันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยมี “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการรวม 17 คน
ความคืบหน้าการออกหลักเกณฑ์คัดกรองผู้ต้องขังตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณาให้นักโทษที่เข้าเกณฑ์ ได้คุมขังนอกเรือนจำนั้น รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าในวันที่ 11 ม.ค.67 คณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพร้อมด้วยคณะกรรมการรวม 17 คน จะมีการประชุมพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามในระเบียบฯ บังคับใช้มาตั้งแต่ 6 ธ.ค.66 และระบุให้คณะทำงานคัดกรอง ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่กำกับดูแล กองทัณฑวิทยาเป็นประธานร่วมกับผู้อำนวยการกองงานที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ รวม 8 คนร่างหลักเกณฑ์ ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายคุมขังนอกเรือนจำ แต่จนถึงปัจจุบันร่างหลักเกณฑ์ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองกดดันอย่างหนักก่อนหน้านี้ให้กรมราชทัณฑ์เร่งรัดหลักเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ แต่ฝ่ายข้าราชการประจำยังไม่ดำเนินการและหลายคนในคณะทำงานมีอาการเครียด กลัวถูกฟ้องร้อง จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมา โดยจะเสนอเข้าคณะกรรมการราชทัณฑ์ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าระเบียบกักขังนอกเรือนจำเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ประเทศต่างๆ ใช้กัน โดยมาตรฐานดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าเอาไปไว้ที่บ้านหรือโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ต้องติดคุกที่บ้าน เปลี่ยนจากคุกไปเป็นบ้านเท่านั้นเอง แบบอองซาน ซูจี โดยคนที่จะไปเยี่ยมต้องขออนุญาตก่อน ผู้ต้องขังก็ต้องติดกำไลอีเอ็ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่มอนิเตอร์ติดตามได้ ไม่ได้กลับบ้านสบาย จัดปาร์ตี้ จัดประชุมพรรคที่บ้านทำไม่ได้ จะต้องอยู่บ้านตลอด 24 ชม. ออกไปไหนไม่ได้ คนเข้าเยี่ยมต้องแจ้งขออนุญาตก่อน ซึ่งอดีตนายกฯ จะได้เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
แหล่งข่าวยัง กล่าวถึงข้อสงสัยว่า การขังนอกเรือนจำเหตุใดไม่ให้ศาลพิจารณาว่า มาตรการนี้มีทั้งก่อนเข้าเรือนจำ ที่ศาลจะสั่งไม่ต้องเข้าเรือนจำ แต่ให้ใส่อีเอ็มไปขังที่บ้าน ส่วนเรื่องนี้เป็นมาตรการเตรียมพร้อมก่อนปล่อย จูงใจให้นักโทษประพฤติดี เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ที่ออกเกณฑ์บริหารโทษได้ เป็นหลักปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจะต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกไป ซึ่งคณะกรรมการนี้ต้องมีทั้งระดับเรือนจำและระดับกรม ซึ่งแทนที่จะให้เป็นอำนาจอธิบดี ก็ควรมีระดับกระทรวง กรมอื่น ๆ เช่น กรมการแพทย์ กรมคุมประพฤติ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมสุขภาพจิต เป็นต้น เข้ามาช่วยคัดกรอง ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดการยอมรับจากสังคม
รายงานข่าวเปิดเผยว่ากรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังนอนรักษาตัวนอกเรือนจำอยู่ที่ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 120 วัน ซึ่งเป็นอำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่จะอนุญาตและเสนอ รมว.ยุติธรรม ทราบ ถึงขณะนี้เกิน 120 วัน มากว่า 10 วันแล้ว ก็ยังไม่มีการลงนามเสนอมายังกระทรวงยุติธรรม.-119-สำนักข่าวไทย