ก.ยุติธรรม 4 ธ.ค. – รมว.ยุติธรรม คาดระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เริ่มใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ สั่งปลัด-อธิบดีราชทัณฑ์สอบกรณีอดีตผู้ต้องขังชายร้องถูกรีดไถในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม นำผู้เสียหายที่เคยเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ร้องถูกรีดไถในเรือนจำฯ เสียหายกว่า 100 ล้านบาท ว่า ที่ผ่านมาในเรื่องการมีเจ้าหน้าที่เรียกตบทรัพย์ที่ปรากฏตามข่าว ตนก็ได้ให้หน่วยงานตรวจสอบ และอยากได้รับข้อมูลจากประชาชนด้วย บางทีเรื่องบัตรสนเท่ห์ บางหน่วยงานอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าจะให้ความคุ้มครองต่อผู้ให้เบาะแสหรือพยานได้ ดังนั้น เมื่อมีข่าวเราก็ต้องตรวจสอบ และอย่าเพิ่งไปด้อยค่าคนที่มาร้องเรียน ซึ่งการตรวจสอบอย่างน้อยที่สุดหน่วยราชการจะได้ไปปรับปรุง แม้อ้างว่าตนเองทำถูกต้อง แต่บางทีความไม่โปร่งใส การตรวจสอบไม่ได้ก็จะทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ อย่างเรื่องที่ร้องเรียนต่อประธานสภา เห็นว่าทั้งสองคนได้เคยอยู่ในเรือนจำฯ เมื่อปี 2561-2562 และออกจากเรือนจำในช่วงรัฐบาลก่อนและบุคคลที่ถูกร้องเรียนก็มีสถานะเป็นผู้ต้องขังเหมือนกันกับผู้ร้อง แต่อย่างไรเราก็ต้องตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทางเรือนจำฯ ได้รายงานการตรวจสอบเบื้องต้นมาว่ามีการร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย หากเขาไม่ไว้ใจหน่วยงาน ก็จะส่งคนกลางลงไปดู โดยจะมอบหมายปลัดกระทรวงยุติธรรมเข้าไปดู ส่วนกรณีที่มีการพาดพิงถึงระดับรัฐมนตรีและอธิบดีฯ ตนอยากให้คนที่ร้องเรียนมีความเชื่อมั่น ถ้าเขามาร้องเรียนกับตน แล้วตนไม่ทำให้ เขาก็ยังสามารถมาร้องเรียนตนต่อได้อึก สังคมเปิดเเล้ว ตนยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมต้องยึดกฎหมาย และต้องไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนกรอบเวลาในการตรวจสอบ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบันก็ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว ถ้าผู้ร้องมีหลักฐานแล้วไม่ไว้ใจใครก็ส่งมาที่ตนได้
ส่วนกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้รับการพักการลงโทษและได้ไปรายงานตัววันนี้นั้น อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่าให้นายบุญทรง จะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนประเด็นความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ รมว.ยธ. กล่าวว่า อยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์ ทราบว่ายังไม่ได้มีการใช้ทันที เพราะต้องมีการจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ดังกล่าว จึงคิดว่าหลักเกณฑ์ควรเปิดกว้างให้ประชาชนรับรู้ด้วย จึงควรไปทำประชาพิจารณ์ ก่อนมีการประกาศลงพระราชกิจจานุเบกษา แต่หลังมีการประกาศลงราชกิจจาฯ แล้ว เวลาจะบังคับใช้นั้น หากโทษเหลือน้อย เป็นนักโทษชั้นดี ได้ทำงานได้ฝึกอาชีพ และหรือเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เป็นผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรง เป็นผู้ต้องขังสูงอายุดูแล้วไม่ก่อเหตุเพิ่ม เป็นผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ก็อยู่ในกลุ่มที่เข้าข่ายพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นการลงโทษประเภทหนึ่ง เเต่เป็นการคุมขังอีกสถานที่หนึ่ง โดยจะให้แต่ละเรือนจำได้ไปออกกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับผู้ต้องขังลอตแรกที่มีสิทธิได้ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ คาดว่าสิ้นปีนี้ (2567) อาจได้เห็น เพราะต้องรอให้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีการทดลองนำร่องบังคับใช้ อย่างน้อยถ้าผู้ต้องขังคนนั้นป่วยมะเร็ง อย่างน้อยก็ได้ไปพักรักษาอยู่ที่บ้านพร้อมครอบครัว .-119-สำนักข่าวไทย