สธ. 11 ต.ค. – รมว.สาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส เผยมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง อาทิ ตั้งมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด เตรียมชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีน HPV ก่อนคิกออฟทั่วประเทศ 1 พ.ย. จัดทำหลักเกณฑ์ Smart Hospital พร้อมรับการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ส่วนการดูแลคนไทยอพยพจากอิสราเอล ได้จัดทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพ และส่งทีม MCATT เยียวยาจิตใจญาติแล้ว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่าน แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ ยกตัวอย่าง ประเด็นยาเสพติด/สุขภาพจิต พบว่า มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว 35 จังหวัด คิดเป็น 46% มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยเฉพาะผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ หรือประเด็นมะเร็งครบวงจร จะมีการชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ กทม. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ เพื่อคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนประเด็นดิจิทัลสุขภาพ ทีมส่วนกลางได้ร่วมกับทีมโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดทำเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การให้บริการ และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามที่ประกาศนำร่องไว้ มั่นใจว่าจะมี Smart Hospital ไม่น้อยกว่า 200 แห่งในระยะเริ่มแรก
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน 2 เรื่อง คือ 1.เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งคนไทยชุดแรกจะกลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 10.35 น. จะมีทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สนามบิน หากมีปัญหาสุขภาพกายจะส่ง รพ.ราชวิถี, รพ.เลิดสิน หรือ รพ.นพรัตนราชธานี และหากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เตรียมโรงพยาบาลด้านจิตเวชไว้รองรับ คือ สถาบัน
จิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐาน จนอาการเป็นปกติ นอกจากนี้ ได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ลงไปดูแลญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 2.การติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งยังมีสถานการณ์ในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นอุทกภัย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยังเปิดให้บริการตามปกติ 18 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนนายาง จ.กาฬสินธุ์. -สำนักข่าวไทย