กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – รมว.ยุติธรรม มอบนโยบายการดำเนินงาน มุ่งขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรมสู่ยุค “ความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความยุติธรรมนำประเทศ”
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม แก่หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นแนวทางการดําเนินงานในอนาคต โดยมีนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 10-09 (ออดิทอเรียม) ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ Cisco Webex Meeting Facebook Live และสื่อสังคมออนไลน์ของกระทรวงยุติธรรม
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า มีนโยบายในการบริหารและขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรมเข้าสู่ยุค “ความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความยุติธรรมนำประเทศ” ผ่านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากอาชญากรรม การละเมิดกฎหมายที่เป็นภยันตรายต่อประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหายาเสพติด รวมทั้งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ให้เป็นรูปธรรมด้วยหลักนิติธรรม โดยให้มีการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีความกล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวง การใช้ดุลพินิจต้องมีข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานชัดเจน เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากจนเกินสมควรแก่เหตุ
ทั้งนี้ มีนโยบายหลัก 5 ประการ คือ 1. นำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า มิใช่ให้ประชาชนเป็นผู้ที่ต้องเข้ามาหาความยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ ความถูกต้องและความยุติธรรมจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างถ้วนหน้า จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงยุติธรรม
2. แก้ไขและปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมทางกฎหมายอย่างแท้จริง เพราะกฎหมายไม่เท่ากับความถูกต้อง หรือไม่เท่ากับความยุติธรรมเสมอไป การบัญญัติกฎหมายที่ยุติธรรมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของปวงชน อันเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของสังคม รากฐานของหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะเป็นการก่อร่างสร้างให้สังคมเกิดความสงบสุข
3. ต้องฝึกฝนอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น อาชญากรรม คือ พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดภยันตรายและความสูญเสียต่อสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งอาชญากรไม่ได้หมายความเฉพาะอาชญากรรมเท่านั้น แต่ให้หมายความรวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้วย ดังนั้น ความพร้อมของบุคลากรในการรับมือกับอาชญากรรมที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และมีความซับซ้อน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ
4. มุ่งธำรงไว้ซึ่งความสูงสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้หลักนิติธรรม ที่กฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ ในขณะเดียวกัน ข้าราชการของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นบุคคลในกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีความซื่อสัตย์ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องความยุติธรรม ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยผู้กระทำนอกจากต้องรับผิดทางอาญาแล้ว ยังถือว่าเป็นภัยอันตรายต่อสังคมด้วย
และ 5. ยึดคติพจน์ “กันไว้ดีกว่าแก้” เนื่องจากการป้องกันอาชญากรรมย่อมดีกว่าการลงโทษอาชญากร ดังนั้น การป้องกันอาชญากรรมจึงถือเป็นเป้าประสงค์สูงสุดของกระทรวงยุติธรรม รวมถึงบุคคลในกระบวนการยุติธรรม บทบาทของกระทรวงยุติธรรมต้องก้าวล้ำทันสมัยไปกว่าอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ ไม่ใช่เดินตามหลังอาชญากรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หรือปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากแต่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่สามารถรู้เท่าทันการกระทำความผิดประเภทต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายของกระทรวงยุติธรรม ทั้ง 5 ข้อดังกล่าว สามารถดำเนินไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดกลุ่มภารกิจสำคัญรองรับไว้ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การบริหารความยุติธรรม กลุ่มที่ 2 การอำนวยความยุติธรรม กลุ่มที่ 3 การพัฒนาพฤตินิสัย และกลุ่มที่ 4 การจัดการ
ปัญหายาเสพติด นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมจะต้องประสานความร่วมมือกับสภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อร่วมกันเป็นองคาพยพที่สำคัญของกระทรวงยุติธรรม ในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ. -สำนักข่าวไทย