สธ. 16 มิ.ย.- สบส.ชี้คลินิกศัลยกรรมใน จ.ปทุมธานี ซึ่งสาววัย 25 ปี เสียชีวิตนั้น เข้าข่ายคลินิกเถื่อน แม้ขออนุญาตถูกต้อง แต่ไม่ได้ขออนุญาตดำเนินการผ่าตัด และ 2 แพทย์ที่ดำเนินการผ่าตัด-ดมยา ไม่มีใบ ส.พ.6 เข้าข่ายทำหัตถการเถื่อน เบื้องต้นสั่งปิด 30 วัน เพื่อตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบแพทย์เป็นหน้าที่แพทยสภา
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ นพ.อภิชน จีนเสวก รองนายแพทย์ สสจ.ปทุมธานี กล่าวถึงกรณีสาว 25 ปี ศัลยกรรมจมูกเสียชีวิตในคลินิกใน จ.ปทุมธานี ว่าจากการสอบสวนขยายผลทำให้ทราบว่าหญิงคนดังกล่าว มาทำศัลยกรรมจมูก โดยค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิล และเห็นการโฆษณาทางออนไลน์ จึงตัดสินใจรับบริการ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมีขึ้นวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาเวลา 10.00 น. เป็นการผ่าตัดใช้กระดูกซี่โครงมาเสริมจมูก แต่ 13.00 น. หลังการผ่าตัดไม่นาน เริ่มมีความผิดปกติ วิสัญญีแพทย์วินิจฉัยว่า มีการแพ้ยาสลบ เลือดเป็นกรด และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แม้ประสาน 1669 กู้ชีพ แต่ไม่ตอบสนอง และเสียชีวิตในที่สุด ส่งร่างให้ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชันสูตร
นพ.อภิชน กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการในปี 2559 ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ขออนุญาตเปิดบริการผ่าตัด และมีการขยายต่อเติมคลินิกเพิ่ม เบื้องต้นในการขออนุญาตเป็นสถานพยาบาล มีแพทย์ที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพียง 1 คน คือ ผู้ประกอบการสถานพยาบาล และมีใบ ส.พ.6 หรือหนังสือแสดงความจํานงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่ในคลินิกนี้กลับมีทั้งแพทย์และวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ ตรวจสอบเบื้องต้นแพทย์ที่มาดำเนินการให้บริการในคลินิกนี้ปัจจุบันทำงานในโรงพยาบาลรัฐด้วย เตรียมตรวจสอบเวชระเบียนคนไข้ย้อนหลังว่า ได้ให้บริการผ่าตัดกับผู้ป่วยไปมากน้อยแค่ไหน
ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า แม้ว่าสถานพยาบาลจะมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ในการทำหัตถการนะไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์จะต้องมีการขออนุญาตและได้รับใบ ส.พ.6 ทุกคน ซึ่งจากการตรวจสอบคลินิกดังกล่าวพบว่ามีผู้ขออนุญาตใบส.พ.6 เพียงแค่ 1 คนเท่านั้น คือ ผู้ขออนุญาตประกอบสถานพยาบาล ทำให้มีผลสถานพยาบาลดังกล่าวนั้นเข้าข่ายเป็นคลินิกเถื่อน เพราะไม่ได้ขออนุญาตทำหัตถการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทาง สบส.มีการรวบรวมรายชื่อคลินิกที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงชื่อแพทย์ที่มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฏหมายเพื่อตรวจสอบ ก่อนทำการผ่าตัดทุกครั้ง เบื้องต้นได้สั่งปิดคลินิกเป็นเวลา 30 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบแพทย์ผู้ดำเนินการให้เป็นหน้าที่ของแพทยสภา
สำหรับฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2545 ตามมาตรา 34 (4) เนื่องจากคลินิกแห่งนี้มีการต่อเติม แต่ไม่ได้มาขออนุญาตกับสาธารณสุขจังหวัด ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นคลินิกเถื่อน มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ในส่วนฐานความผิดเกี่ยวกับการโฆษณา เป็นฐานความผิดโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาต ที่โอ้อวดหรือเป็นเท็จ มีโทษจำคุก1ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ทั้งนี้ ในอนาคตกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมปรับเพิ่มบทลงโทษในส่วนของโทษปรับของสถานพยาบาลเป็น 3 เท่า ดูอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
นพ.ต่อพล กล่าวว่า รับบทลงโทษของแพทย์นั้น หากพบว่าดำเนินการผิดจริงหรือมีความจงใจทำผิดจะได้รับโทษตั้งแต่ตักเตือน, ภาคทัณฑ์, พักใช้ใบอนุญาต, เพิกถอนใบอนุญาต.-สำนักข่าวไทย