สำนักข่าวไทย 11 เม.ย. – รองอธิบดีกรมอนามัยเตือนอย่าหาทำ กิน “อิ๊วโซดา” ตามกระแส เสี่ยงไตทำงานหนัก เพราะซีอิ๋วอุดมไปด้วยโซเดียม 3,600 มิลลิกรัม ขณะที่ WHO กำหนดโซเดียมแต่ละวัน ควรทานไม่ 2,000 มิลลิกรัม ย้ำซีอิ๊วควรใช้ให้เหมาะตามวัตถุประสงค์
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงเทรนด์เครื่องดื่มใหม่ “อิ๊วโซดา” ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล โดยการนำซีอิ๊วดำสูตรเฉพาะ (สูตรราดบนไอศกรีม) 3 ช้อนโต๊ะผสมกับเครื่องดื่มโซดา 1 กระป๋อง เพื่อดื่มคลายร้อน ซึ่งซีอิ๊วนี้มีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลทรายร้อยละ 56 กลูโคสไซรัป ร้อยละ 13.4 และซีอิ๊ว (soy sauce) ร้อยละ 13.6 จากส่วนผสมดังกล่าว หากผสมซีอิ๊ว 3 ช้อนโต๊ะ เครื่องดื่มแก้วนั้น จะมีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำรวจพบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หากประชาชนนำซีอิ๊วดำที่ผลิตสำหรับใช้เป็นเครื่องปรุงรสมาทำตามอัตราส่วนดังกล่าว เครื่องดื่มแก้วนั้นจะมีโซเดียมสูงถึง 3,600 มิลลิกรัม (ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัม) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อการมีสุขภาพที่ดี กำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณซีอิ๊วดำไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ทั้งนี้ ปกติร่างกายจะได้รับน้ำตาล โซเดียมจากอาหารที่บริโภคทั่วไป ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประชาชนจึงควรระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มที่จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและโซเดียมเพิ่มขึ้น อีกทั้ง โซดา (Soda) เป็นเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ในน้ำ ทำให้มีความซ่า จึงช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่โซดายังมีฤทธิ์เป็นกรด หากดื่มตอนท้องว่าง เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และโซดา ทำให้อิ่มเร็ว การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมโซดามากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำเปล่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด .- สำนักข่าวไทย