สถาบันประสาทวิทยา 31 มี.ค. – แพทย์เผยภาวะฮีทสโตรก ไม่ทำให้เสียชีวิตทันที ยกเว้นมีปัจจัยร่วม เช่น หัวใจ ห่วงเด็ก คนแก่ โรคเรื้อรัง อ้วน ดื่มสุราจัด เสี่ยงเกิดผลกระทบหากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน แนะดื่มน้ำ หลบเลี่ยงแสงแดด
นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญพิเศษ อายุกรรมสมองสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวถึงภาวะฮีทสโตรก ว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีผลทำให้ทั้งพฤติกรรมของร่างกายเปลี่ยนไป ร่างกายอ่อนแอ เกิดภาวะหมดสติ มีสัมปชัญญะลดลง หรือภาวะล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการชักร่วม พบได้ในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนหรือดื่มสุราจัด และคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ส่วนการเสียชีวิตจากภาวะฮีทสโตรกเพียงอย่างเดียวนั้น เกิดขึ้นน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวิตที่มีปัจจัยร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ หรือภาวะความดันโลหิตสูง
นพ.ธนบูรณ์ กล่าวว่า อาการของฮีทสโตรกจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่ง ร่างกายเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากนั้นจะส่งผลให้ระบบการทำงานของระบบประสาท เกิดความผิดปกติ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกิดภาวะตับวายไตวายกล้ามเนื้อแตก โลหิตเป็นพิษ ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักพบคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานและสูญเสียน้ำมาก ดังนั้น ทุกครั้งที่ออกไปเผชิญกับแสงแดดควรต้องดื่มน้ำให้มากโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก สำหรับการป้องกัน ทำได้เพียงหลบเลี่ยงแสงแดดในเวลาที่ร้อนจัดตั้งแต่ 10.00-14.00 น. ควรอยู่ในที่ร่ม ดื่มน้ำสะอาดโดยเฉพาะน้ำเปล่าปริมาณมากและควรสวมเสื้อผ้าที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรสวมใส่หมวกปีกกว้างหรือกลางร่ม เพื่อป้องกันแสงแดดและใช้ระยะเวลาการทำกิจกรรมการแจ้งให้น้อยที่สุด หากต้องใช้แรงหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งงดการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะจะทำให้การหายใจไม่คล่องตัวมากเหมือนกับปกติ.-สำนักข่าวไทย