กรุงเทพฯ 7 มี.ค.- กทม.ขับเคลื่อนนโนบายด้านสาธารณสุข เปิด Urban sandbox : Klang model โรงพยาบาลกลาง ยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมือง ดูแลแบบไร้รอยต่อ ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Urban Sandbox : Klang Model โรงพยาบาลกลาง และพื้นที่ 4 เขต ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องสาธารณสุขเป็นนโยบายสำคัญ รวมถึงเรื่องการศึกษาที่จะช่วยลดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี เขตกรุงเทพฯ ชั้นในมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น สำคัญที่สุดคือเป็นเขตที่มีผู้สูงอายุสูงมาก เป็น Super Aging หมดแล้ว หลายเขตเกิน 25% เพราะฉะนั้นรูปแบบการดูแลอาจจะไม่เหมือนกับเขตที่อยู่ชั้นนอก ซึ่งจะมีผู้สูงอายุไม่มากเท่าเขตชั้นใน สิ่งสำคัญคือการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กทม.เองมีหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานเขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ต่อไปจะมีสำนักการศึกษา สำนักเทศกิจ เข้ามาช่วยดูแล หัวใจคือทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานทำงานเป็นเนื้อเดียวกันแบบไม่มีรอยต่อ มีแผนและขั้นตอนดำเนินการเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด การมาทำ Workshop ในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่เชื่อว่าทำให้หลายอย่างพัฒนาการดีขึ้น คำว่า Sandbox เหมือนกระบะทราย มีการลองผิดลองถูก ถ้าได้ผลสรุปแล้วนำผลที่ได้ไปขยายต่อที่เขตอื่น ที่ผ่านมาทำที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นโมเดลที่อาจจะอยู่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ สำหรับโรงพยาบาลกลางเป็น Sandbox เขตที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป หวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดหวังไว้
จากนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “9 ด้าน 9 ดี” ด้านสุขภาพดี สร้างความเข้มแข็งของเส้นเลือดฝอย ลด Pain Points ของประชาชน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการดูแลประชาชนและการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงถือกำเนิดโครงการ Sandbox ทั้งนี้ Urban Sandbox : Klang Model มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข เชื่อมโยง และเสริมความเข้มแเข็งในการจัดบริการปฐมภูมิ การส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเปราะบาง โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการการส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่ 4 เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลกลาง คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตปทุมวัน ให้สามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยวางแผนโครงการตามการดูแลผู้ป่วยเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะเฉียบพลัน ได้แก่ โครงการ Urgent Care Unit, Telemedicine, E-Referral, Motor-lance, Tele-Consult และเครือข่ายกู้ชีพโรงพยาบาลกลาง
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน ได้แก่ โครงการ Palliative Care, Geriatric Care, NCDs Health Literacy, Advance Wound Care, Stroke Corner, Stop TB BKK, เยี่ยมบ้านไตรภาคี
- ระยะยาว คือ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ อสส.
- การส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ โครงการนักสืบ Dementic, Day Care ผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุ
โดยในวันนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ร่วมมอบนโยบาย ทิศทาง การเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งกล่าวถึงโครงการนี้ว่า Sandbox ด้านสุขภาพโดยหลักคิดในการรื้อขั้นตอนและวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนการทำงานใหม่ไม่สามารถรื้อทั้งกรุงเทพฯ ได้ เพราะฉะนั้นต้องรื้อทีละเรื่อง ทีละโซน ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่สามารถทำเหมือนกันได้และต่างกัน เช่น บริบทของพื้นที่ ยกตัวอย่างกรุงธนกับกรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นสอง Sandbox ที่เราเปิดไว้ก่อนหน้าในพื้นที่รอบนอก ดังนั้น การสร้างบริบทของการบริบาลผู้สูงอายุก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง ในขณะที่โซนกลาง เช่น ดุสิต Model หรือ โรงพยาบาลกลาง Model ครอบคลุมพื้นที่รอบใน ซึ่งมีลักษณะสภาพพื้นที่แออัด รถติด มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงอยู่เยอะ การจะเข้าไปในชุมชนที่แคบให้เร็วต้องใช้หน่วย Motor-lance เป็นจุด ๆ หรือไม่ จอดประจำที่ไหนอย่างไร ก็จะนำมาสู่กระบวนการทำงานแบบใหม่ ๆ โดยวันนี้ได้ให้โจทย์กับทางโรงพยาบาลกลางว่า ในการทำงานตาม 17 โครงการของโรงพยาบาลกลาง Sandbox จะทำอยู่ในรูปลักษณ์ไหน ใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายต่างจากพื้นที่อื่นหรือไม่ เพียงใด
ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ กทม.ชั้นใน ต้องเน้นเรื่องการทำข้อมูลให้มาก แล้วนำข้อมูลใส่เข้าไปในแผนที่ เพื่อให้เห็นว่าใครอยู่ตรงไหน มีทรัพยากรอะไร แล้วจะบริหารจัดการอย่างไรกับพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้พื้นที่ 4 เขตทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลกลางกำลังช่วยออกแบบระบบสาธารณสุข ของ กทม.ในพื้นที่โซนเหนือว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากโซนเหนือไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือของ รพ.หลักอื่นๆ ในพื้นที่ ในการเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนมาตรฐาน ให้ก่อนที่ศูนย์บริการสาธารณสุขจะเป็นผู้จัดการพื้นที่สาธารณสุขได้ ทั้งหมดนี้อยู่บนวัตถุประสงค์หลักที่ว่าทำอย่างไรให้คนเข้าถึงหมอได้ง่าย แต่ในความทั่วถึงนั้นท่านผู้ว่าฯ เน้นย้ำว่าต้องมีมาตรฐาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงควบคู่ไปด้วย เมื่อเครือข่ายปฐมภูมิแข็งแรง อาสาสมัครเราแข็งแรง คลินิกเราแข็งแรง ศูนย์บริการสาธารณสุขเราแข็งแรง ในที่สุดเราจะได้มีบริการการแพทย์และสาธารณสุข กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร.-สำนักข่าวไทย