สธ. 27 ก.พ. – หมอสูติฯ ชี้เรื่องราวแม่เด็ก 8 เดือน เป็นบทเรียนของแม่วัยใส ที่ไม่ได้ก่อปัญหากับสุขภาพของทารกแรกเกิด แต่เกิดปัญหาสังคม ส่วนใหญ่ของแม่วัยใสไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ความเป็นแม่ และไม่รู้วิธีหาเงินเลี้ยงลูก
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ โฆษกประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสูตินรีแพทย์ กล่าวถึงกรณีแม่เด็ก 8 เดือน ให้การสารภาพทำบุตรชายวัย 8 เดือน เสียชีวิต จากนั้นนำร่างไปโยนลงน้ำว่า ถือเป็นบทเรียนของแม่วัยใส ปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ไม่ได้ก่อแค่ปัญหาสุขภาพแก่ทารกแรกเกิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อปัญหาสังคมตามมาด้วย เพราะความไม่พร้อม และการไม่ได้ตั้งรับว่าจะมีครอบครัว ทำให้เด็กที่เกิดมามักถูกทิ้ง หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปู่ย่า ตายาย ในการเลี้ยง หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ครอบครัวแหว่งกลาง เด็กที่โตมาไม่ได้รับความอบอุ่น และคนเป็นแม่ไม่มีความเป็นแม่ ไม่รู้วิธีการเลี้ยงลูก หรือแม้แต่ครอบครัวกันเอง ระหว่างพ่อแม่วัยใสด้วยกันก็มีการทะเลาะ บางครอบครัวมีการทำร้ายร่างกาย แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 ซึ่งมี 6 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องดูแล กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นพ.โอฬาริก กล่าวว่า เรื่องราวของแม่วัยใส มีอีกมากตั้งแต่การฝากท้องขณะตั้งครรภ์ บางคนก็มีการเปลี่ยนคู่สามี หรือบางคนต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ซึ่งความที่ยังเป็นเด็กมากไม่รู้จะหาเงินที่ไหนเลี้ยงลูกที่กำลังจะเกิดมา ส่วนปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด มักมีโอกาสเกิดขึ้นในแม่ทุกคน ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนหลังคลอด มีตั้งแต่ทำร้ายตนเองและทำร้ายลูก หรือทำร้ายคนรอบข้าง ซึ่งทั่วโลกมีประมาณ 7-8% .-สำนักข่าวไทย