รัฐสภา 13 ก.ย.-“จุลพันธ์” รมช.คลัง ยัน “negative income tax” บรรจุในนโยบาย เพื่อเร่งศึกษาให้ตอบโจทย์ปัญหาสังคม ย้ำไม่ได้นำมาทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่ แต่เป็นแนวคิดที่ต้องการสร้างตาข่ายรองรับประชาชนไม่ให้ใครตกไปอยู่ในกรอบแห่งความยากจน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงนโยบายการศึกษาระบบภาษีรูปแบบใหม่ หรือ negative income tax ว่า แนวความคิดนี้ เป็นแนวความคิดที่ถูกนำมาบรรจุในแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างละเอียด และเป็นแนวคิดตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งขณะนี้ มีมากกว่า 50% อยู่นอกระบบ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ มีราว 4 ล้านคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีประมาณ 5 ล้านคนที่อยู่ในจุดที่เรียกว่าเกือบจน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง และรัฐบาลก็มีแนวคิดหาหนทางช่วยเหลือมาตลอด
สำหรับปัญหาระบบฐานภาษีของประเทศไทย ที่มีคนเข้าสู่ระบบฐานภาษีค่อนข้างน้อย มีคนยื่นแบบภาษีเงินได้เพียงแค่ 10 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีจริงๆ ประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ผูกโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด
แนวความคิดข้างต้น เป็นการนำตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่ต้องการสร้างตาข่ายรองรับสังคมไม่ให้ใครสามารถตกไปอยู่กรอบแห่งความยากลำบากและความยากจน โดยจะมีเกณฑ์เพื่อวัดเส้นแห่งความยากจนที่มีความเหมาะสม หากประชาชนสามารถยื่นแบบภาษีได้ทุกคน เมื่อใครเกินเส้นนี้ ก็เสียภาษีตามอัตราที่เหมาะสมต่อไป
ในขณะที่คนที่ตกต่ำกว่าเส้นที่กำหนด กลไกของภาษีจะสามารถเป็นภาษีติดลบ ที่สามารถกลับไปเพื่อไปชดเชยอุดหนุนให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากต่อสู้ได้ รวมถึงทำให้ประชาชนเกิดความกล้าความคิดในการลงทุน
นายจุลพันธ์ ชี้ว่า แนวคิดนี้ จะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนรู้อยู่เสมอว่าข้างหลังมีรัฐบาลที่คอยประคับประคองให้เขากลับมาลุกขึ้นยืนได้ใหม่ไม่ว่าจะล้มอีกกี่ครั้งก็ตาม และทำให้คนในประเทศเปลี่ยนแนวความคิด เพิ่มแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นแม่งานในการศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงข้อสงสัยว่าแนวคิดนี้จะเป็นการชดเชยหรือทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่ ว่า ในสวัสดิการแต่ละประเภทมีหลักในการคำนวณที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคนละประเด็น เนื่องจากเป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่แน่นอนว่าด้วยเม็ดเงินที่จำกัดของภาครัฐ เราต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 1-2 ปี กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการศึกษาแนวคิดนี้ เพื่อในที่สุดแล้วประชาชนคนไทยทุกคน จะได้สามารถมีตาข่ายที่มั่นใจได้ว่า จะคอยรองรับเขาอยู่ในทุกสถานการณ์.-314.-สำนักข่าวไทย