กทม. 22 ก.พ.- กทม.จัดเสวนาเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจ เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว หากเกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม.พร้อมแค่ไหน” โดยกล่าวว่ากรุงเทพมหานครมีภารกิจในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารในพื้นที่ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือจากภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วนที่จะมาร่วมหารือและแสดงความคิดเห็นจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้ว่าวันนี้เรามีความพร้อมขนาดไหน หรือต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร โดยการเสวนาในวันนี้เป็นการเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน หรือลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว
จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ทำให้ประชาชนชาวไทยพูดถึงด้วยความรู้สึกวิตกกังวลว่า หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตึกสูงจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติจะมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักด้านการดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความสำคัญต่อการเตรียมการรองรับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยมีเครือข่ายการทำงานที่เป็นระบบ เข้มแข็ง ดังที่ปรากฏในการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมทีม USAR Thailand ไปปฏิบัติการที่ประเทศตุรกี
อีกทั้งยังให้ความสำคัญในบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กําหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง
นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารที่มีอาคารเข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ 1.อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) 3.อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป) 4.โรงมหรสพ 5.โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6.สถานบริการที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป 7.อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8.โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9.ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ส่งรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจและอยากทราบความชัดเจนของการดำเนินการต่าง ๆ
การจัดเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และการแสดงถึงความเชี่ยวชาญของวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านที่ได้มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดไว้ เพื่อให้คำตอบแก่ประชาชนในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปรับปรุงอาคารให้มีความพร้อมในการรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.-สำนักข่าวไทย