กรุงเทพฯ 31 ธ.ค. – กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย เร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มประชากรข้ามชาติเพิ่มขึ้น ภายหลังได้รับวัคซีนโควิดกว่า 5 ล้านเข็มแล้ว
กรมควบคุมโรคจัดประชุมขยายความร่วมมือกับเครือข่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ด้าน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคสำหรับกลุ่มดังกล่าว ผ่านการพัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ เน้นคู่หูบัดดี้ อสม.-อสต. และต่อยอดสายด่วนแรงงานข้ามชาติให้ครอบคลุมและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทบทวน และประยุกต์ใช้ผลการประเมินชุมชนแบบรวดเร็วเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงวัคซีนของกลุ่มประชากรข้ามชาติ พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิง เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ และเครือข่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ จากทั้งภาครัฐ มูลนิธิ NGOs และองค์การอนามัยโลก
นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องมาตั้งเเต่วันที่ 26 ธันวาคม โดยเน้นการฝึกใช้เครื่องมือการประเมินชุมชนแบบรวดเร็ว ซึ่งสามารถประยุกต์ได้หลายโอกาส ร่วมกับการถอดบทเรียนผลการดำเนินงาน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อค้นพบจากการประเมิน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้ประชากรข้ามชาติในไทยได้รับวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 5 ล้านเข็ม แต่ยังต้องให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อ ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันสุดท้ายวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ซึ่งที่ประชุมได้เสนอ 3 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาความรู้และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) การพัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและประชากรข้ามชาติ และการพัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบและขอให้นำ 3 ข้อเสนอนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นนโยบายสำหรับแผนงานพัฒนาสุขภาพแรงงานข้ามชาติ อาทิ คู่บัดดี้ อสม. และ อสต. ทำงานร่วมกัน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว และระยะต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนการขยายผล การพัฒนาสายด่วนสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติให้เกิดความยั่งยืนเพื่อเตรียมพร้อมรับโรคระบาดในอนาคตโดยมีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาร่วมกับองค์การอนามัยโลกและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า การทำงานจำเป็นต้องมีความชัดเจนของฐานข้อมูลประชากรต่างชาติ เพื่อเข้าใจสถานการณ์ความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และช่องว่าง ปัจจุบันฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งข้อมูลแรกของประเทศที่มีการเก็บข้อมูลผู้ได้รับวัคซีน ทุกกลุ่มประชากรรวมทั้งแรงงานข้ามชาติไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน ควรนำมาใช้ประโยชน์วางแผนการดำเนินงาน ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น .-สำนักข่าวไทย