กรมวิทย์ฯ 21 ธ.ค.- กรมวิทย์ฯ พร้อมให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ และตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน จึงต้องมีความระมัดระวัง ทั้งนี้ ภาครัฐมีการรณรงค์ เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องเป่า ในการสนับสนุนให้ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากผู้ขับขี่ยานพาหนะเมาสุรา เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
สามารถส่งเครื่องเป่าสอบเทียบได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ส่วนภูมิภาคส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสงขลา ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ และหากห้องปฏิบัติการพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด จะปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
เครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจ ต้องผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลา 6 เดือน เมื่อผ่านการสอบเทียบจะมีใบรับรองผลการสอบเทียบและสติกเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง ซึ่งผู้ใช้ควรดูแลรักษาเครื่องวัดแอลกอฮอล์ฯ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เช่น ไม่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิสูง ระวังไม่ให้เกิดการตกกระแทก ตรวจสอบแบตเตอรี่สม่ำเสมอ ใช้หลอดที่สะอาดในการเป่า และระวังไม่ให้มีน้ำลายเข้าไปอยู่บริเวณหัววัดภายในเครื่อง เป็นต้น
นพ.บัลลังก์ กล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลเจาะเลือด (ควรเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุ) และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ส่วนกลาง) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง)
สำหรับวันควบคุมเข้มข้น (29 ธ.ค.65-4 ม.ค.66) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง “สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีผลการดำเนินงานตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จำนวนทั้งสิ้น 712 ราย อายุระหว่าง 11-83 ปี และพบผู้ที่มีผลปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 54 ช่วงอายุของผู้ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 20-29 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าพาหนะที่มีความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และรถเก๋ง ตามลำดับ
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงให้ความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในทุกช่วงเทศกาล” นพ.บัลลังก์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย