สำนักข่าวไทย 23 ต.ค. – การเรียนการสอนด้วยอาจารย์ใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติ หลังเดลตาระบาดหนัก ทำหยุดชะงัก ปัจจุบันเรียน 1 ร่างอาจารย์ใหญ่ ต่อ 6 นิสิตแพทย์ ย้ำความสำคัญรากฐานเรียนแพทย์เริ่มต้นที่กายวิภาค
ผศ.นพ.ธนศิลป์ หวลมานพ หัวหน้าหน่วยมหกายวิภาคศาสตร์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การเรียนการสอนด้วยอาจารย์ใหญ่ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทางรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการ ทำให้ในปี 2565 สามารถกลับมาเรียนอาจารย์ใหญ่ตามปกติแล้ว โดยการเรียนการสอนด้วยอาจารย์ใหญ่ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นการเรียนระยะสั้นกับร่างกายอาจารย์ใหญ่ 3-4 เดือน ส่วนอาจารย์ใหญ่ที่เห็นขณะนี้ คงไว้ห้องเรียนนี้ เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สนใจศึกษาต่อแพทยศาสตร์ ได้มาศึกษาและเตรียมความพร้อมในการเรียนแพทย์ เนื่องจากวิชากายวิภาคศาสตร์ ถือเป็นรากฐานการเรียนของแพทย์ เพื่อให้ได้เรียนรู้กล้ามเนื้อของมนุษย์ ทั้งช่องท้อง ช่องอก เชิงกราน และการเคลื่อนไหวของมัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของอาจารย์ใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว มีการกลับมารับร่างอาจารย์ใหญ่ ทั้งในโรงพยาบาลและบ้าน เพียงแต่ในบ้าน หากมีผู้เสียชีวิตและประสงค์บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็ต้องมีการตรวจ ATK ก่อน ส่วนมาตรการการเรียนการสอนของนิสิต เน้นความสะอาดและป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย
ผศ.นพ.ธนศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเรียนด้วยอาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง ต่อนิสิตแพทย์ 6 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว มีเพียงปี 2564 เท่านั้น ที่การเรียนการสอนแพทย์ต้องหยุดชะงักจริงๆ เพราะสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ระบาดรุนแรง จำต้องเรียนในระบบออนไลน์
สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคร่างกาย เพื่อเป็นการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ ติดต่อได้ที่ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-14.00 น. โทร. 02 256 5079 หรือภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ชั้น 11 และศูนย์ฝึกผ่าตัด ชั้น 4 อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือแจ้งความจำนงทางออนไลน์ https://anatomydonate.kcmh.or.th/. – สำนักข่าวไทย