กทม.บูรณาทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ปัญหา PM2.5

กรุงเทพฯ 21 ต.ค.- กทม.บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ใช้ Traffy Fondue เป็นตัวช่วยให้ประชาชนแจ้งต้นตอมลพิษ เข้ม 3 ด้าน แก้ฝุ่นพิษ


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมประชุม

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดย กทม. มีแผนการดำเนินการที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม.เสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการแล้ว ตั้งอยู่ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ


ทั้งนี้ สิ่งที่ทำในเบื้องต้น คือ การออกตรวจจุดที่มีปัญหาในการก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งในที่ประชุมได้พูดคุยหารือและสรุปว่า เราอาจจะคิดว่า PM2.5 เป็นเรื่องของรถที่ปล่อยควันดำอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะยังมีเรื่องของการเผาชีวมวล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรด้วย จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ด้วย เช่น การปลูกอ้อย พืชไร่ต่างๆ ที่มีการเผาชีวมวล อาจจะรวมถึงต่างประเทศอย่างประเทศกัมพูชา

ดังนั้น เรื่องที่จะดำเนินการ มี 3 ด้าน คือ 1.รถขนส่ง รถควันดำต่าง ๆ ที่มีปัญหา ได้ดำเนินการเชิงรุก และกำหนดแผนการตรวจทุกวันตลอดช่วง 2 เดือน โดยความร่วมมือทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ โรงงาน และพยายามไปตรวจที่จุดกำเนิด เช่น แพลนท์ปูน ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กำหนดให้มีรายงานการตรวจทุกวัน และแจ้งผลว่าจำนวนที่ไม่ผ่านมีเท่าไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจอย่างต่อเนื่อง

2.โรงงานอุตสาหกรรม ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 6,000 โรงงาน โดยมีอยู่ 260 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงในการเกิด PM2.5 และจะต้องเฝ้าระวังอย่างละเอียด โดยจะแบ่งแต่ละเขต และให้ ผอ.เขต รับทราบโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ และเข้าร่วมตรวจกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสัปดาห์หน้าจะร่วมลงตรวจกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สุ่มตรวจในโรงงานเหล่านี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ


และ 3.การเผาชีวมวล ปีที่แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเผาอยู่ 9 จุด และได้ลงไปคุยในเบื้องต้นแล้วว่าจะให้เกษตรกรมีแนวทางลดการเผาอย่างไร ซึ่งเกษตรบอกว่าทำได้ แต่อาจจะให้ กทม.ช่วยเหลือ เช่น เรื่องน้ำมันในการเก็บตอซังข้าว หรืออาจจะต้องการเครื่องมือมัดฟาง เครื่องมือหรือน้ำยาในการย่อยสลาย เพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้กลายเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งพื้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเยอะ ปัญหาจะอยู่นอกพื้นที่ โดย กทม.จะมีการเฝ้าระวังและดูจุดความร้อนจากการเผาไหม้ต่างๆ (hotspot) ถ้ามีปัญหาการเผาจะดำเนินการแจ้งกรมควบคุมมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงหากมีการเผานอกประเทศ กรมควบคุมมลพิษจะเป็นหน่วยงานที่แจ้งองค์กรความร่วมมือของอาเซียน เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างต่างประเทศต่อไป

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า มีหลายหน่วยงานที่มีข้อเสนอมา โดยทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ จริงๆ แล้ว รถอีกประเภทหนึ่งที่ปล่อยควันพิษได้ คือ รถบรรทุกที่แบกน้ำหนักเกิน ทำให้เวลาวิ่งต้องใช้พลังเยอะ แต่เวลาตรวจน้ำหนักอาจจะตรวจแบบรถเปล่า ไม่มีปัญหา แต่ไปวิ่งจริงแบกน้ำหนัก รถบรรทุกเกินพิกัดมาก (Overload) ทำให้เกิดโอกาสปล่อยมลพิษออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณากฎหมายว่าเราสามารถควบคุมเรื่องน้ำหนักบรรทุกเกินได้แค่ไหน หรือจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร

รวมถึงการดูจุดต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ แพลนท์ปูน ขสมก. เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.แล้ว โดยจะลงลึกในรายละเอียดในแง่ของการป้องกัน ซึ่งทุกอย่างดำเนินการตามแผน และจะแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีระบบการพยากรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นแม่งานหลัก ในการแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 7 วัน แต่ความแม่นยำอาจจะใกล้เข้ามาถึง 3 วัน ว่าฝุ่นจะเป็นอย่างไร ทาง กทม.จะใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและนำมาสื่อสารให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมต่อไป

ในส่วนของโรงเรียนมีมาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จัดให้มีกิจกรรมธงคุณภาพอากาศโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้เด็กนักเรียนฝึกอ่านค่าคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งธงออกเป็น 5 สี ตามค่าฝุ่นละออง PM2.5 (หน่วย มคก./ลบ.ม.) ที่เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ได้แก่ 1. สีฟ้า มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่าง 0-25 ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ 2.สีเขียว มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่าง 26-37 ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ 3.สีเหลือง มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่าง 38-50 ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง

4.สีส้ม มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่าง 51-90 ลดกิจกรรมกลางแจ้งสวมหน้ากากอนามัย และ 5.สีแดง มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่ 91 ขึ้นไป ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งใช้อุปกรณ์ป้องกันและอยู่ในห้องที่ปลอดภัย โดยให้นักเรียนชักธงคุณภาพอากาศเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตรียมตัวและป้องกันภัย ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ขึ้น (Awareness) และกระจายไปยังชุมชนด้วย สำหรับมาตรการอื่นๆ อาจจะพยายามลดการใช้รถยนต์ และให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น และอาจทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบนายกฯ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบ “แพทองธาร” นายกฯ ชื่นชมเป็นคนเก่ง-มองโลกบวก เป็นหน้าตาของประเทศ นำเสนอวัฒนธรรม-ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการประกวด พร้อมชวนร่วมงานรัฐบาล สร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ขณะที่ นายกฯ เขินถูกชมว่าตัวจริงสวย

ล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง

คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญถกคำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างฯ

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ “รับ/ไม่รับ” คำร้องปม “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่