กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผยรายละเอียดภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะผิดปกติทางด้านจิตใจ หลังรับข่าวสารผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียเรื่องเหตุกราดยิงภายในศูนย์เด็กเล็กฯ จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้หลายท่านมีอารมณ์หดหู่ จึงควรมีการสำรวจจิตใจของแต่ละท่านว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ในระดับใด
สำหรับอาการป่วยทางจิตจากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นจะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ โดยระยะแรกเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดเฉียบพลัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้วมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ที่เรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD)
PTSD เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุวินาศกรรม ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น หรือบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่ว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในสถานการณ์นั้นๆ หรืออาจเป็นผู้ที่เสพข่าวสารทางช่องทางต่างๆ แล้วรู้สึกตื่นกลัวตามไปด้วย จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา
PTSD มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ
- เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (Re-experiencing) เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วผุดขึ้นมาซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flash Back)
- คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้นๆ หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ไม่กล้าเผชิญกับสิ่งที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
- มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) คือ การไม่มีอารมณ์ในทางบวก ไม่มีความสุขและไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรมนั้นๆ การรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น มีความเชื่อและคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง มีการตีความขยายออกไปในทางลบ บางรายมีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ รู้สึกโกรธ อับอาย หวาดกลัว และรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
- อาการตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal symptoms) เป็นอาการคอยจับจ้อง คอยระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้น เวลาอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ส่งผลให้ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ
ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่นได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด (Survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ พึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
การรักษา PTSD นั้น เน้นการทำจิตบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยยา โดยปัจจุบันการใช้ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs) มีประสิทธิภาพการรักษาในผู้ใหญ่ ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยในเด็ก ดังนั้น การใช้ยาในเด็กและวัยรุ่นควรจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปจะมีผู้ประสบภัยราว 20% ที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ หากรายใดปรับตัวได้เร็วหลังประสบเหตุก็อาจมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้นๆ แล้วหายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ถือว่าป่วย PTSD
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้มีแนวทางดูแลจิตใจของตนเองในเบื้องต้น เพื่อลดโอกาสที่ท่านจะป่วยเป็นโรค PTSD โดยกรมสุขภาพจิตได้แนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดหลังเกิดเหตุรุนแรงไว้ ดังนี้
- ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเอง ซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
- หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง
- หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ
- พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวของผู้ประสบเหตุที่อยู่เพียงลำพัง เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้
- เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้าง โดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าท่านหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ PTSD ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านของท่าน เพื่อรับการรักษาต่อไป. – สำนักข่าวไทย