เชียงใหม่ 7 มิ.ย. – สาธารณสุขเชียงใหม่หนุนผู้สนใจปลูกกัญชง กัญชา ลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ปลูกกัญ” แนะวิธีบริโภคอย่างปลอดภัย พร้อมปลดล็อกหลัง 9 มิถุนายนนี้
หลังวันที่ 9 มิถุนายนนี้ พืชกัญชา กัญชง จะไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป ผู้ที่สนใจปลูกสามารถปลูกได้แล้ว โดยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” โดยมีสาธารณสุขเชียงใหม่ให้การสนับสนุน พร้อมแนะนำให้ศึกษาวิธีการปลูกและปริมาณในการบริโภคก่อน
นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ทำให้พืชกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป เว้นแต่ส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 คือ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงเท่านั้น ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีทีเอชซีน้อยกว่า 0.2% ไม่เป็นยาเสพติด แต่ยังคงมีการห้ามนำเข้าพืชกัญชา กัญชง อยู่ ทำให้ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ หรือปลูกเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ปลูกกัญชง กัญชา แจ้งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านระบบการจดแจ้งการปลูกผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” หรือ https://plookganja.fda.moph.go.th หรือขอให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จดแจ้งแทน โดยเตรียมหลักฐานคือ บัตรประชาชน โทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันรหัส OTP และข้อมูลการปลูก ประกอบด้วย สิ่งที่ปลูก จำนวนต้นที่จะปลูก แหล่งที่มา สถานที่ปลูก และวัตถุประสงค์ 1 ใน 3 ข้อ คือ เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยทางการแพทย์ และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เมื่อจดแจ้งสำเร็จผู้ลงทะเบียนจะได้รับใบรับจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถพิมพ์ออกมาได้
สำหรับสถานประกอบกิจการอาหาร ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำข้อความแสดงว่า ร้านนี้ใช้ใบกัญชา และบอกปริมาณการใช้ใบกัญชา พร้อมแสดงคำเตือนให้ชัดเจนตามที่กำหนด เช่น เด็กต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารทีเอชซี หรือซีบีดี ควรระมัดระวังในการรับประทาน หากมีอาหารผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และห้ามแสดงสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค เป็นต้น
นอกจากนี้การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ต้องมีการศึกษาคุณและโทษให้ดีก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและมีความปลอดภัยด้วย เช่น ควรใช้แต่ใบกัญชา กัญชง เท่านั้น และไม่ควรทานเกิน 1-2 ใบ หลีกเลี่ยงการตุ๋น ทอด ที่ใช้ความร้อนเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สารทีเอชซีตกค้างมากขึ้น รวมทั้งห้ามนำไปสกัดหรือและนำไปใช้เสพเพื่อความบันเทิง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชา เพื่อการรักษาโรค สามารถไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลหรือสอบถามรายละเอียดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ .-สำนักข่าวไทย