ตรัง 9 มี.ค.- ชาว อ.นาโยง และลูกหลานตระกูล “พรหมชู และ รัตนะ” ร่วมกันสืบสานประเพณีประจำถิ่นที่มีมานานกว่าร้อยปี โดยการหามศพคุณทวดวัย 95 ปี ด้วยแคร่ไม้ไผ่ จากบ้านไปวัด เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
ที่บ้านหลังหนึ่งในชุมชนหน้าท่าควาย เขตเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง พบว่าบรรดาลูกๆ หลานๆ เหลนๆ กำลังเร่งจัดทำแคร่ที่ทำจากไม้ไผ่สีสุก เพื่อทำเป็นแคร่สำหรับจะใช้แบกหามศพของนางปวน หรือนามสกุลเดิม “รัตนะ” อายุ 95 ปี ที่เสียชีวิตด้วยความชรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากลูกหลานได้ประกอบพิธีสวดอภิธรรมศพอยู่ที่บ้านจนครบจำนวน 3 วัน ก็ถึงกำหนดจะนำศพของคุณทวดปวนไปที่วัดรัตนาภิมุข ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 600 เมตร เพื่อทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามหลักศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่เหมือนใคร
แต่สำหรับชาวชุมชนหน้าท่าควาย และลูกหลานตระกูลพรหมชู และรัตนะ หากผู้เสียชีวิตด้วยความชรา ชาวชุมชนและลูกหลานจะยังคงสืบทอดประเพณีนำศพเข้าวัดแบบโบราณที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี คือ การหามด้วยแคร่ไม้ไผ่ และมีพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป อายุมากที่สุด 72 ปี ขึ้นไปยืนบนแคร่ข้างโลงศพ เพื่อนำทางดวงวิญญาณผู้ตายไปวัดด้วย โดยให้ลูกหลานและชาวชุมชนแบกหามโดยมีคนร่วมขบวนแห่กว่า 100 คน
ทั้งนี้ แคร่ไม้ไผ่ดังกล่าว ชาวชุมชนและลูกหลานทำขึ้นจากไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่และหนา ที่คุณทวดและลูกหลาน ซึ่งมีอาชีพทำข้าวหลาม เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านข้าวหลามโคกสะบ้าที่ขึ้นชื่อของ จ.ตรัง นิยมนำไม้ไผ่สีสุกมาทำข้าวหลาม ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาว อ.นาโยง ลูกหลานจึงเลือกไม้ไผ่สีสุกมาทำเป็นแคร่แบกหาม โดยขบวนนำโดยกลองยาว ที่มีลูกหลานร่วมฟ้อนรำ และต้องใช้คนแบกหามกว่า 30 คน โดยลูกหลานได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหาม ทั้งนี้ ระยะทางเพียงแค่ประมาณ 600 เมตร แต่ใช้เวลาเกือบ 1 ชม. เพราะมีการยื้อแคร่ มีการแวะเวียนบ้านญาติ หรือ แวะบ้านเพื่อนบ้านคนรู้จัก จึงทำให้การแบกหาม ต้องยื้อ ต้องเลี้ยวไปตลอดเส้นทาง ขณะที่พระภิกษุที่อยู่บนแคร่ก็ต้องเกร็งเท้า เกร็งตัวบ้างเป็นครั้งคราว ตามจังหวะการยื้อและการเลี้ยว แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้น และสนุกสนานตลอดเส้นทาง
ด้านหลานสาวของคุณทวดปวน กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 100 ปี ปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตด้วยความชราทุกคน ลูกหลานก็จะหามศพด้วยแคร่ไม้ไผ่ไปวัดทุกคน ส่วนเหตุที่เลือกใช้ไม้ไผ่สีสุก เนื่องจากครอบครัวประกอบอาชีพทำข้าวหลามขาย ที่หมู่บ้านข้าวหลามโคกสะบ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้วเช่นกัน ดังนั้น ในการทำแคร่หามจึงเลือกใช้ไม่ไผ่สีสุก เพื่อความผาสุก เป็นสิริมงคล เพราะไม้ไผ่สีสุก เป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ และทำข้าวหลาม
ด้านลูกสาวคุณทวดปวน กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ชาวชุมชนหน้าท่าควายสืบทอดกันมายาวนานแล้ว หากผู้เสียชีวิตด้วยความชราก็จะช่วยกันทำแคร่หามแบบนี้ ซึ่งเป็นประเพณีที่หาดูได้ยาก ชาวชุมชนและลูกหลานตั้งใจจะสืบสานรักษาเอาไว้ตลอดไป แสดงถึงความรักความสามัคคีด้วย.-สำนักข่าวไทย