ยะลา 28 ก.พ.-ชาวสวนแตงโม อ.ทุ่งยางแดง สุดช้ำ น้ำท่วมพืชไร่ฉับพลัน เสียหายกว่า 800 ไร่ ส่วนน้ำท่วมยะลา เริ่มคลี่คลาย หลังฟ้าเปิด ชาวบ้าน อ.รามัน เผยระดับน้ำเริ่มลดลง หลังท่วมมาแล้วกว่า 3 วัน
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา หลังจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) ในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 5 อำเภอ 40 ตำบล 158 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ตามอำนาจหน้าที่ ตามประกาศ โดยในวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี เริ่มลดระดับลง แต่ยังคงล้นตลิ่ง โดยต้นน้ำที่ อ.ศรีสาคร และ อ.รือเสาะ ณ ปัจจุบัน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1-2 เมตร คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 1-2 วันนี้
แม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำที่ต้นน้ำ อ.บันนังสตา ณ ปัจจุบันต่ำกว่าตลิ่ง 1.46 เมตร คงเหลือระดับน้ำที่ผ่านเทศบาลนครยะลา สูงกว่าตลิ่ง อยู่ที่ระดับ 60 เซนติเมตร คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้เช่นกัน ส่วนบ้านเรือนของประชาชน ที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ หลังจากนี้ก็จะเป็นลักษณะน้ำท่วมขังในพื้นที่ ไม่มีอิทธิพลจากลำน้ำสายหลักมาเติม ต้องหามาตรการในการสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่อไป
ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ที่นี่น้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำสายบุรี ปีนี้หนักกว่าทุกปี น้ำขึ้นเร็วมาก สัญจรลำบาก น้ำเอ่อล้นท่วมถึงถนนที่ใช้สัญจรในหมู่บ้าน วันนี้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว ที่น้ำยังคงท่วมบ้านเรือนอยู่ บรรยากาศในวันนี้ฟ้าเปิด มีแสงแดด ที่ผ่านมาเดินทางเข้าไปในตัวบ้านไม่ได้ น้ำท่วมสูง วันนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังทรงตัวอยู่ ซึ่งบ้านที่เห็นนี้เป็นบ้านสามี บ้านพี่สาว และบ้านเครือญาติ ที่ผ่านมาทางหน่วยงานทั้งทางจังหวัด ทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามาช่วยเหลือ บริจาคสิ่งของ ถุงยังชีพ น้ำดื่ม และข้าวกล่องช่วยเหลือ คาดว่าอีก 2-3 วัน กว่าน้ำจะลด หากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่
จากคลิปใน TikTok ที่เห็นชาวสวนไร่แตงโม ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่นำเรือพายทยอยเก็บแตงโมที่กำลังจมน้ำ ในไร่ของตัวเอง สร้างความสงสารให้กับผู้ที่ได้ดูคลิปนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง เป็นพื้นที่ที่ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งที่ปลูก แตงโมได้อร่อยที่สุดในจังหวัดปัตตานี และเป็นแหล่งที่มีประชาชนปลูกแตงโมมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงของเดือน ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี จะเป็นช่วงของการเพาะปลูก และเป็นช่วงหลังจากฤดูฝน แต่ปีนี้ กลับมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ทำให้ไร่แตงโมของชาวบ้านเสียหายทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี พบว่า ชาวบ้านต่างยืนดูไร่แตงโมของตนเองที่มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง และคาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้น และขยายวงกว้างกินพื้นที่มากกว่านี้อีก ทำให้ชาวบ้านได้แต่ทำใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้ ทางชาวสวนหวังว่า การเพาะปลูกในปีนี้ จะสามารถออกผลผลิตในช่วงก่อนเดือนถือศีลอดที่จะมาถึงในเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะมีรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องพบเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งหมด
ด้านนายอานัส สือแมง ชาวสวนไร่แตงโม บอกว่า ตอนนี้น้ำมาแรง และเร็วมาก จากระดับน้ำหัวเข่า ถึงระดับเอวใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับต้นแตงโม เพราะจะเน่าทั้งหมด ขณะนี้ไร่ของตนเองถูกน้ำท่วมไปแล้ว 9 ไร่ ตอนนี้ได้แต่ทำใจ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากแค่เก็บอุปกรณ์ทำเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ด้านนายตอเยะ เจะหนะ กำนันตำบลตะโละแมะนา บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี น้ำไม่เคยท่วมในพื้นที่ตรงนี้ แต่ปีนี้เกิดน้ำท่วมขึ้น ส่งผลกระทบให้กับชาวบ้านที่เพาะปลูกแตงโม แตงกวา และพริกต่างๆ ประมาณ 800 ไร่ และขณะนี้เสียหายทั้งหมด ค่าเสียหายประมาณเกือบ 1 ล้านบาท โดยมวลน้ำมาจาก อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ไหลรวมเข้ามาในพื้นที่ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ราบและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นที่รองรับน้ำ แต่เดือนกุมภาพันธ์ที่นี่ไม่เคยท่วม ตนอายุ 50 ปีแล้ว ยังไม่เคยเจอ เพิ่งจะมาเจอน้ำท่วมในปีนี้
ส่วนที่จังหวัดพัทลุง หลังฝนตกหนักติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดพัทลุง สรุปสถานการณ์น้ำท่วม 6 อำเภอ คือ อำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน อำเภอเมือง และอำเภอปากพะยูน รวม 28 ตำบล123 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 576 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบมากที่สุด อำเภอควนขนุน จำนวน 11 ตำบล 33 หมู่บ้าน 371 ครัวเรือน
ที่ราบลุ่มริมทะเลสาบ 2 อำเภอ คือ อำเภอเขาชัยสน ตำบลเขาชัยสน หมู่ที่ 1 ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนจำนวน 50 ครัวเรือน และอำเภอควนขนุน ตำบลทะเลน้อย หมู่ที่ 7 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 50 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่นาข้าวที่กำลังสุกรอการเก็บเกี่ยวจำนวนหลายร้อยไร่ยังคงจมน้ำ
สถานการณ์อุทกภัย คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จำนวน 4 อำเภอ 26 ตำบล 121 หมู่บ้าน 476 ครัวเรือน เหลือพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ราบลุ่มพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 2 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน 100 ครัวเรือน
นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม และประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ มอบถุงยังชีพและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และได้สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบพืชทางเกษตรได้รับความเสียหาย นาข้าวที่กำลังสุกรอการเกี่ยว ซึ่งพบว่า ยังจมน้ำอยู่เป็นจำนวนหลายพันไร่.-สำนักข่าวไทย