เพชรบูรณ์ 18 ก.พ.- นักท่องเที่ยวโวย หลังถูกแม่ค้าหัวใสยัดไส้สตรอว์เบอร์รี่เน่าขึ้นราไว้ข้างล่าง ลั่นวาจาไม่ขอรับเงินคืน ถือว่าไม่ซื่อสัตย์ และตั้งใจลักไก่เพื่อให้ขายให้นักท่องเที่ยว ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
กรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์รูปภาพลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ขึ้นราและเน่า พร้อมระบุข้อความว่า “ไปทำบุญที่วัดป่าภูทับเบิก เหมือนได้การจงใจจะขายของไม่ดีให้แก่ลูกค้าเพราะเห็นเป็นลูกค้าขาจรหรือป่าว ผลไม้สตรอว์เบอร์รี่บรรจุกล่องอย่างดี ดูด้านบนสวยงามพอมาถึงบ้านแกะดูข้างล่างเป็นเชื้อรา #สินค้าบรรจุกล่องลูกค้าไม่สามารถเปิดดูได้ ไม่รู้เข้าข่ายหลอกขายสินค้าหรือเปล่า”
หลังจากภาพและข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เช่น ขนาดบนภูทับเบิกยังโดน แม่ค้านิสัยแย่, แนะนำให้ไปซื้อตรงที่สวนจะได้ผลสตรอว์เบอร์รี่ที่สด, แบบนี้เสียความรู้สึก ต้องมีมาตรการว่าสินค้าแพ็กกิ้งแพ็กกล่องจะต้องมีป้ายแสดงอย่างไรให้มันชัดเจน”
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังเจ้าของเฟซบุ๊ก ทราบชื่อ นายศักดิ์ชัย เป็นชาว อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้พาครอบครัวไปเที่ยวไหว้พระที่วัดป่าภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ขากลับเวลา 10.38 น. ได้แวะซื้อสตรอว์เบอร์รี่ ที่ร้านค้าขายของฝากริมทาง ปากทางเข้าหมู่บ้านภูทับเบิก ในราคากล่องละ 100 บาท จำนวน 2 กล่อง แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านที่ อ.หนองไผ่ ประมาณ 13.00 น. ต้องตกใจเมื่อพบว่าสตรอว์เบอร์รี่ 1 กล่อง มีสภาพเน่าขึ้นรา ขณะที่ภรรยาผู้เสียหายเผยว่า ด้านบนคือลูกสตรอว์เบอร์รี่สวยมาก ใครเห็นก็ต้องซื้อ แต่พอเปิดกล่องดูด้านในปรากฏว่าด้านล่างลูกเน่าขึ้นราหมด ซึ่งเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง สตรอว์เบอร์รี่ไม่น่าเน่าขึ้นราแบบนี้ เพราะแม่ค้าบอกว่าเพิ่งเก็บมาสดๆ จากนั้นจึงย้อนกลับไปที่ สภ.หล่มเก่า เพื่อแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดแม่ค้า ทางเจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังแม่ค้าคนดังกล่าว เเม่ค้าบอกว่า ถ้าเน่าหรือเสียยินดีคืนเงินให้ แต่ตนยืนยันว่าไม่รับเพราะถือว่าไม่ซื่อสัตย์และตั้งใจลักไก่เพื่อให้ขายสตรอว์เบอร์รี่เน่าขึ้นราให้นักท่องเที่ยว ซึ่งไม่รู้ว่ามีกี่รายแล้ว และขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการขายของแบบนี้ให้ลูกค้า นอกจากจะเสียความรู้สึกยังเสียชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวอีกด้วย
ล่าสุด นายธัชพงษ์ เสาธง ทนายความ ซึ่งเป็นกลุ่มทนายคุ้มครองสิทธิ และผู้เสียหาย เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์, พาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ และเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้เข้าตรวจสอบคุณภาพสินค้าของแม่ค้าคนดังกล่าว ที่จำหน่ายหรือขายสตรอว์เบอร์รี่ ไม่ได้คุณภาพให้กับนักท่องเที่ยวว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าพบว่ามีความผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย