ปราจีนบุรี 3 ธ.ค.- ไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำแค่ไหน สาวใหญ่ชาวปราจีนบุรี ไม่ขออยู่เฉย หันมาเลี้ยงนกพิราบอินเดียส่งขายทั้งตลาดเมืองไทยและต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเดือนละหลายหมื่นบาท
จากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หลายคนเกิดอาการท้อแท้หมดแรงสู้ แต่กับคุณกชกร จัตุรัส เป็นผู้หญิงแกร่งที่ไม่ยอมแพ้ จึงหาอาชีพที่คิดว่าลงทุนน้อยพอได้กำไรมาเลี้ยงตัว เผื่อว่าถ้าไปไม่ไหวก็จะไม่เจ็บตัวมาก จนมาลงเอยที่การเลี้ยงนกพิราบอินเดีย เพราะในช่วงที่เริ่มเลี้ยงยังไม่ค่อยมีใครเลี้ยงอย่างจริงจัง จึงไม่น่าจะมีคู่แข่ง จึงตัดสินใจนำเงินที่เก็บไว้มาสั่งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ สายเลือดดีมาเลี้ยงในราคาที่มีตั้งแต่ ตัวละ 3,500 บาท ถึง 6,000 บาท เมื่อลูกนกโตเต็มวัยก็ผสมพันธุ์ แต่ช่วงแรกจะไม่ขายเก็บเอาไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จนได้พ่อ และแม่มากพอถึงเริ่มเพาะลูกขาย โดยจะเริ่มขายที่ราคา 100 บาท ถึง 3,000 บาท สำหรับลูกนก ถ้าสีสวยนิยมราคาก็อาจถึง 3,000 บาท แต่สำหรับคนไทยแล้วมักนิยมสีขาวมากที่สุด จึงเป็นสีที่ขายดี แต่สำหรับผู้ที่จะเลี้ยงไว้ทำพันธุ์ จะเลือกตัวที่มีสีสันแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีที่วงการนิยมมาก เพราะแต่ละรุ่นในหลายๆ แม่อาจมีแค่ หนึ่งหรือสองตัวเท่านั้น
สำหรับนกพิราบอินเดียนั้น จะออกไข่ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีไข่ไม่เกิน 2 ฟอง และเป็นนกที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว มีนิสัยเชื่อง กินอาหารเม็ดผสมข้าวเปลือก แต่ควรมีน้ำให้นกเล่น นกพิราบอินเดียนั้นชอบอาบน้ำผึ่งแดดเป็นนกที่รักสะอาด
คุณกชกร ยังบอกด้วยว่า ไม่ต้องกลัวนกบินหนีเพราะนกพิราบอินเดียนั้นบินไม่เก่งและมักอยู่ใกล้คน ลักษณะเด่นของนกพิราบอินเดียนั้น สังเกตที่หัวจะมีหงอนทั้งตัวผู้ และตัวเมีย มีขนเท้าที่ยาวปิดคลุมเท้าทั้งหมด หางจะลำแพนเหมือนหางนกยูง ซึ่งจะแพนตลอดเวลา ทำให้นกพิราบอินเดียนั้นสวยงามน่าเลี้ยงกว่านกพิราบทั่วไป และมีขนาดใหญ่กว่าน้ำหนักต่อตัวประมาณ 1.5 กก.
คุณกชกร จัตุรัส เล่าว่าทุกวันนี้เลี้ยงนกพิราบอินเดียเป็นอาชีพขายทั่วไป มีการจัดส่งทั่วประเทศ มีบ้างที่มาซื้อเอาไปขายต่อ หรือซื้อเพื่อไปทำพันธุ์ จนมีลูกนกที่เลี้ยงไว้กระจายไปแทบทั่วประเทศ ไม่เฉพาะในต่างจังหวัด แม้แต่ต่างประเทศทั้ง ลาว กัมพูชา ก็เป็นลูกค้า เหลืออีกที่คือ เวียดนาม ยังตัดสินใจว่าจะส่งหรือไม่เพราะกลัวว่า ลูกนก จะตายก่อนถึงมือคนสั่ง แต่ถ้าระบบการขนส่งพร้อมก็พร้อมที่จะส่งไปให้โดยคิดราคาเท่ากับในเมืองไทยบวกแค่ค่าขนส่งจริงเท่านั้น
สุดท้ายคุณกชกร ยังฝากถึงคนที่อยากเลี้ยงจะเลี้ยงเป็นอาชีพ หรือเป็นเพื่อสวยงามสามารถโทรศัพท์สอบถามที่หมายเลข 064- 660 8420 ยินดีให้คำแนะนำ.-สำนักข่าวไทย