เชียงใหม่ 7 พ.ค. – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เผยแพร่ภาพ “กวางผา” ที่บันทึกได้ขณะออกมาบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน
กวางผา (Burmese goral) พบการกระจายในพื้นที่กลุ่มป่าอนุรักษ์ 2 กลุ่มป่า ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 11 แห่ง โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์กวางผาได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย และพื้นที่ควบคุมการจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่แจ่ม โดยมีปัจจัยสำคัญต่อการเลือกใช้ประโยชน์พื้นที่ของกวางผา คือ พื้นที่ที่มีระดับความสูงและลาดชันมาก ห่างไกลจากแหล่งชุมชนและมีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์น้อยมาก
พฤติกรรมของกวางผา มันจะอาศัยอยู่เดี่ยวๆ ตามลำพัง หรือบางช่วงจะอาศัยอยู่กันเป็นคู่หรือกลุ่มเล็กๆ (2-6 ตัว) หากินในช่วงเช้าและเย็น ในที่โล่งตามทุ่งหญ้า ที่ลาดชันน้อย ส่วนช่วงกลางวันมักจะนอนพักผ่อนบนลานหินตามหน้าผา ชะง่อนหิน ส่วนอาหาร ส่วนใหญ่กินหญ้า รองลงมาเป็นไม้ล้มลุก ผลไม้ ยอดไม้และใบไม้พุ่มเตี้ย ๆ อาหารโปรดของกวางผา คือยอดอ่อนของหญ้าระบัด มันมักใช้พื้นที่หากินบริเวณทุ่งหญ้า ตามหน้าผา และป่าดิบเขาเป็นส่วนใหญ่ แล้วใช้บริเวณลานหินที่เป็นที่หากิน โดยมักพบกวางผาอยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-2,200 เมตร กวางผาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตอนอายุ 2 – 3 ปี ผสมพันธุ์ในช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ระยะเวลาในการตั้งท้องอยู่ที่ประมาณ 6 – 7 เดือน
กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สาเหตุที่มีจำนวนลดลงเนื่องจากปัจจัยคุกคามหลาอย่างได้แก่ การบุกรุกถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยทำให้กวางผาสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การปล่อยสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัวควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับกวางผา จะสามารถนำมาซึ่งโรคระบาดที่สามารถติดกวางผาได้ ถูกล่า และเมื่อมีจำนวนน้อยลงมากจึงเกิดภาวะเลือดชิด กรณีกระทำผิด ล่าล่าสัตว์ป่าสงวน เช่น เลียงผา กวางผา เก้งหม้อ มีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี ปรับเป็นเงินตั้งแต่ 3 แสนถึง 1 ล้าน 5 แสนบาท
กวางผามีลักษณะคล้ายเลียงผา แต่เลียงผา (Serow) มีขนาดใหญ่กว่า เลียงผาจะมีการแพร่กระจายที่กว้างขวางกว่ากวางผา จึงสำรวจพบร่องรอยมากกว่า โดยพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า เมื่อเปรียบเทียบค่าความชุกชุมของทั้งเลียงผาและกวางผาจากทุกสภาพป่าที่อยู่ในกลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย และกลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย-สาละวิน พบว่าทั้งเลียงผาและกวางผาพบในป่าเบญจพรรณมากที่สุด
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์บันทึกภาพกวางผาได้เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ครั้งก่อนหน้าคือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ขณะนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อยู่ระหว่างปิดการท่องเที่ยวและพักแรมประจำปี โดยเริ่มปิดตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 ก.ค. 64 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 053-286729 .- สำนักข่าวไทย