นครพนม 22 ก.พ. – น้ำโขงวิกฤติหนัก ต่ำสุดแค่ 1 เมตร น้ำกลายเป็นสีฟ้าคราม ส่งสัญญาณถึงหายนะ โดยเฉพาะอาชีพประมง รายได้ลดเกินครึ่ง ปลาน้ำโขงเสี่ยงสูญพันธุ์
สถานการณ์น้ำโขงยังวิกฤติ จ.นครพนม ลดระดับต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ล่าสุดมีระดับน้ำเฉลี่ยต่ำสุดประมาณ 1 เมตร ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้พื้นที่น้ำโขงบางจุดเกิดหาดทรายเป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้น้ำโขงนิ่ง ไม่ไหลเชี่ยว เกิดการตกตะกอน กลายเป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเล แม้จะสร้างความสวยงามตื่นตาให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามถือเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ระบบนิเวศเริ่มพัง ระดับน้ำโขงไม่ไหลเวียนตามธรรมชาติ
โดยเฉพาะลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลกระทบมากสุดคืออาชีพประมง ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้น้อย กระทบการขยายพันธุ์ของปลาน้ำโขง ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ตามฤดูกาล
ด้านนางสาวศิราณี งอยจันทร์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำโขงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก น้ำโขงลดระดับเร็วตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งปีนี้ปริมาณน้ำโขงต่ำ เกิดการตกตะกอน ทำให้แพลงก์ตอนในน้ำ รวมถึงสาหร่ายตาย ปลาน้ำโขงไม่มีอาหาร จากข้อมูลการสำรวจในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน พบว่าปลาน้ำโขงเดิมมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าชนิด แต่ปัจจุบันเริ่มสูญพันธุ์หายากกว่า 100 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง ประมาณกิโลกรัมละ 150-200 บาท เป็นที่ต้องการของตลาดและมีระยะเวลาการขยายพันธุ์ช้า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต้องอายุ 3-4 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถขายพันธุ์
สิ่งที่ตามมาคือรายได้จากอาชีพประมง เศรษฐกิจด้านประมงลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแนวทางการป้องกันแก้ไข สำคัญที่สุดทางหน่วยงานประมง ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ และห้ามใช้อุปกรณ์จับปลาที่มีการห้ามในช่วงฤดูปลาขยายพันธุ์ นอกจากนี้ยังได้วางแนวทางในการจัดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบธรรมชาติในลำน้ำโขง ด้วยการสร้างเขตพื้นที่ห้ามจับปลาตามหน้าวัดเขตอภัยทาน โดยใช้ความเชื่อมาเป็นส่วนในการอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเชื่อว่าถึงแม้จะมีการเพิ่มการขยายพันธุ์ปลามากขึ้น แต่ปัจจัยหลักคือระบบนิเวศ ระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงทำให้ส่งผลกระทบตามมาขั้นวิกฤติแน่นอนในอนาคต.-สำนักข่าวไทย