สผ. ชี้แจงการเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หลังกลุ่มชาติพันธุ์ค้าน 3 ประเด็น ขอให้ชะลอการพิจารณา
จากกรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แก่งกระจาน ได้แสดงจุดยืนยื่นหนังสือคัดค้านให้มีการชะลอการเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนมรดกโลก ใน 3 ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อกังวล
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรงงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2563 โดยระบุว่าประเด็นการร้องเรียนของกลุ่มชาติพันธุ์ ขอยืนยันว่าการดำเนินงานของกระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน
โดยการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะไม่มีการกระทบความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรวมถึงที่ทำกินของคนในพื้นที่ โดยมีการลงพื้นที่พูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และส่วนกลาง รวมทั้งประเทศไทยยังได้เชิญทูตจากชาติต่างๆ ลงพื้นที่ดูสภาพความเป็นอยู่ และแนวทางการปรับปรุงให้พร้อมเป็นมรดกโลก โดยได้นำเสนอข้อเท็จจริงในทุกด้าน ซึ่งทุกฝ่ายพอใจเป็นอย่างดี
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 23 คน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1.ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังแทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ 2.ชาวบ้านบางกลอย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย และ 3.ชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับ มท. เพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม
โดยในข้อเรียกร้องข้อที่ 1 นั้น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ 3 งาน จำนวน 57 แปลง รวมทั้งหมด 413 ไร่ ต่อมาได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 รวมทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโป่งลึก – บางกลอย มีผู้ถือครองที่ดิน จำนวน 260 ราย 337 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,890 ไร่
ในส่วนของราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ทส. อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีราษฎรจากบ้านบางกลอย 30 ราย และบ้านโป่งลึก 37 ราย มาทำการแจ้งการครอบครองที่ดินแล้ว
ขณะที่ประเด็นที่ 2 ชาวบ้านบางกลอย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับ การยอมรับจากรัฐบาลไทย ชาวบ้านบางกลอยสามารถทำไร่หมุนเวียนได้ภายในขอบเขตที่ดินของตนเองที่ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
และประเด็นที่ 3 ชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม
ปัจจุบัน อส. ไม่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านบางกลอยกลับไปทำกินในพื้นที่บริเวณบ้านใจแผ่นดิน – บางกลอยบนเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้ชายแดนไทย – เมียนมา อาจส่งกระทบทางด้านความมั่นคงของประเทศ และยากต่อการควบคุมการข้ามฝั่งไปมาของกลุ่มชาติพันธุ์
หากมีการทำการเกษตรในบริเวณดังกล่าว จะทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง เกิดดินสไลด์ ระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวซึ่งมีความเปราะบางจะถูกทำลายลง รวมถึงพื้นที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าชนิดพันธุ์สำคัญที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ที่มีพบร่องรอยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ลิ่นชวา ช้างป่า เสือโคร่ง เป็นต้น อาจถูกรบกวนด้วยกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เป็นปัญหาต่อการหาอาหาร การขยายพันธุ์ การลดลงของประชากร และผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่จะถูกตัดแบ่งออก ซึ่งในที่สุดจะไม่สามารถคงคุณค่าความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกได้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมไปยังศูนย์มรดกโลก เพื่อให้ทันการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้วาระการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกได้บรรจุไว้ในวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดี ที่ประเทศไทยจะเชิญสหภาพสากลว่าก้วยการอนุรักษ์ (IUCN) มาปฎิบัติตามภารกิจในการให้คำปรึกษาตามมติคณะกรรมการมรดกโลก
นอกจากนี้ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เพื่อสนับสนุนการดำเนินการผลักดันการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กุยบุรี เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม่น้ำภาชี ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก แหล่งที่ 6 ของราชอาณาจักรไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแหล่งที่ 3 ของราชอาณาจักรไทย
สผ.ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานให้กับคณะทูตประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกที่มีถิ่นพำนักอยู่ในไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และสภาพพื้นที่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี และที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ตามที่คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาตินำเสนอ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ต่อไป
ด้านรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ ความรัก และความหวงแหน ต่อแหล่งมรดกของท้องถิ่น ยังทำให้เป็นที่รู้จักและสนใจในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ของประเทศที่ได้รับการยกย่องเป็นแหล่งมรดกโลก หรือแหล่งที่อยู่ระหว่างการเตรียมการยกระดับ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจับนที่มีผลกระทบจากโควิด-19 การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย