7 ก.ย – สทนช. เตือนน้ำในแม่น้ำโขงอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ช่วง 7-12 ก.ย.นี้ เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และ สปป ลาว ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ช่วงบ่ายที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเช้าวันนี้ (7 ก.ย.) บริเวณจุดวัดระดับน้ำบ้านพันลำ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ วัดได้ 10.40 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.30 เมตร ซึ่งสัปดาห์นี้ระดับน้ำลดลงเกือบ 2 เมตร และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศให้เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 7-12 กันยายน 2567 เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ สปป ลาว ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1.5 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณริมแม่น้ำโขงและริมลำน้ำบางสาขาใน จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ด้านนายอภิชัย จำปานิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มคลี่คลาย น้ำที่ไหลผ่าน จ.บึงกาฬ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนพ้นจุดเฝ้าระวังแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการดำเนินการในส่วนของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 3 ก.ย. 67 จ.บึงกาฬ ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมทั้งหมด 8 อำเภอ โดยเฉพาะนาข้าว มีพื้นที่ประสบภัย 30,457 ไร่ คาดจะเสียหาย 27,762 ไร่ พืชไร่และพืชผักไม่มี สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ประสบภัย 2,306 ไร่ คาดจะเสียหาย 2,235 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 29,997 ไร่
ส่วนที่ จ.อุดรธานี นายวรวิทย์ สุภาอ้วน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี พบว่ายังมีน้ำไหลเข้าอ่างจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่อง ปัจจุบันอ่างมีปริมาณน้ำ 125.20 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92.35% จากความจุสูงสุด 135.5 ล้าน ลบ.ม. จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้อ่างเข้าสู่เกณฑ์การควบคุมโดยเร็ว โดยจะปรับเพิ่มระบายปริมาณ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.
โดยสำนักงานชลประทานที่ 5 นำเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 8 เครื่อง มาติดตั้งพลักดันน้ำไหลเร็วลงแม่น้ำโขงให้มากที่สุด ก่อนที่ฝนจากพายุยางิจะตกลงมาสมทบเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย