ขอนแก่น 13 มิ.ย.-“แพทองธาร” ลงพื้นที่สำรวจตลาดซอฟต์พาวเวอร์ จ.ขอนแก่น ชมสินค้าจากชุมชน และสั่งผ้าฝ้ายจากกลุ่มทอผ้าไหมอีรี่ จำนวน 2 ชิ้น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เดินทางมาสำรวจสินค้าท้องถิ่น เพื่อรับทราบความต้องของชาวบ้าน นำข้อมูลไปพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ที่ อบต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น
น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวสั้นๆ ทักทายเป็นภาษาอีสาน และบอกว่า นายทักษิณ ชินวัตร ฝากความคิดถึงชาวบ้านทุกคน หากมีเวลาจะเดินทางลงมาเยี่ยมพี่-น้อง จ.ขอนแก่น จากนั้นได้เดินไปถ่ายรูปกับชาวบ้านที่มารอต้อนรับทุกกลุ่มอย่างเป็นกันเอง และได้เดินชมสินค้าจากชุมชน นอกจากนี้ยังได้สั่งผ้าฝ้าย จากกลุ่มทอผ้าไหมอีรี่ จำนวน 2 ชิ้น ขนาด 2.50 เมตร ราคารวม 3,500 บาท
โดยบรรยายกาศจุดที่ 1 อบต.ท่าพระ มีชาวบ้าน และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและชาวบ้านในนำสินค้ามาให้ชมเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด เช่น ปลาส้ม ไม้กวาดดอกหญ้า มาลัยจากผ้าขาวม้า ไส้กรอก การสานตะกร้า ฯลฯ
ด้าน นางทองเลิศ สอนจันทร์ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมอีรี บ้านหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ ให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น ด้านงานฝีมือชาวบ้านถนัดอยู่แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน นิยมซื้อไปจำหน่ายในประเทศ ได้แปรรูปเป็น เสื้อผ้าสำเร็จรูป หมวก กระเป๋า ฯลฯ สามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มเดือนละ 200,000 บาท
ทั้งนี้ไหมอีรี่ คือไหมป่า เป็นไหมชนิดที่ความนุ่มและฟูกว่าไหมบ้านปกติ มีจุดเด่นที่เส้นไหมไม่สม่ำเสมอ มีความฟู นุ่ม เบา มีผิวสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สามารถย้อมสีธรรมชาติได้ นอกจากนี้การสาวไหมไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวไหม
จากนั้น น.ส.แพทองธาร ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อมารับทราบข้อมูลการผลักดันให้เป็นสินค้าแฟชั่นซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัด และไปสู่ระดับประเทศ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น
น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวว่า อยากให้ครอบครัวได้สืบทอดงานฝีมือต่อไป ทางคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องผ้าไหมเป็นเรื่องที่หาได้ยากเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะพื้นที่ ตนเองพร้อมสนับสนุนงานของชาวบ้านทั้งประเทศ และขณะนี้กำลังดำเนินการโครง OFOS หรือ One Family One Soft Power (1 ครอบครัว 1 Soft Power) เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคน โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะให้มีความชำนาญมากขึ้น เพื่อจะกลับไปสร้างรายได้ให้พ้นขีดความยากจนต่อไป
จากนั้นได้เดินชมวิธีการทอผ้าไหมหมี่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการถึงการตัดเย็บพร้อมกับเดินดูพิพิธภัณฑ์ที่นำผ้าลายต่างๆในภาคอีสานมาจัดแสดง
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ศูนย์สิ่งทอ ชินไหมไทย ได้ดำเนินการจัดสร้างโดยตระหนักถึงภารกิจและหน้าที่ ที่จะต้องอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมและเผยแพร่ ผ้าไหมมัดหมี่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ให้คงอยู่สืบไป ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ งานศิลปาชีพด้านผ้าไหม เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ จัดตั้งโดย ครูสุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ หรือครูชิน เคยได้รับรางวัลในฐานะผู้ผลิตผ้ามัดหมี่ที่ดีที่สุดในโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้.-716.-สำนักข่าวไทย