อุตรดิตถ์ 17 พ.ค.- มาช้าแต่อร่อยสุดๆ ลูกค้าแห่จองดอกแรก ทุเรียนหลง-หลินลับแล สินค้า GI ออกสู่ตลาด แม้ผลผลิตลดลง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของลูกค้า สั่งจองล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี เจ้าของล้งการันตี ดูแลทะนุถนอมยิ่งกว่า “ไข่ในหิน”
ที่ ล้งตะวันฉายลับแล จุดขายทุเรียนหลง-หลินลับแลออนไลน์ทั่วไทย ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นางปุณยนุช ทองชั้น เจ้าของล้งตะวันฉายลับแล เร่งคัดจัดส่งทุเรียนหลง-หลินลับแล “ดอกแรก หรือ มีดแรก หรือ รุ่นแรก” ของฤดูกาลปี 2567 ที่ยอมรับว่าผลผลิตปีนี้ออกช้า และปริมาณลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแล้ง แต่เป็นทุเรียนที่มีความมหัศจรรย์ คือ ยิ่งแล้ง “เนื้อจะแห้ง ไม่มีเส้นใย เมล็ดลีบ ละมุนลิ้น เหมือนทุเรียนราดนมสด กลิ่นอ่อนๆ คล้ายเกสรดอกไม้” เปิดตลาด ดอกแรกคึกคัก ลูกค้าสั่งจองล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปี ต้องจัดส่งตามคิว
นางปุณยนุช หรือพี่นิด เจ้าของล้งตะวันฉายลับแล กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในปีนี้ เป็นช่วงที่ทุเรียนลับแล ซึ่งปลูกตามธรรมชาติบนดอยลับแลรุ่นแรกกำลังติดผล โดยเฉพาะทุเรียนหลง-หลิน ซึ่งเป็น สินค้าจีไอ พืชเฉพาะถิ่นมีต้นกำเนิดที่ อ.ลับแล เป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่ต้นจะสูงกว่าตึก 3 ชั้น คุณสมบัติโดดเด่น คือ ทนแล้ง ทนร้อน ประกอบกับชาวสวนรู้ดีว่า ปีนี้ร้อนจัด จึงดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอมยิ่งกว่า “ไข่ในหิน” ยิ่ง กว่า “สามีหวงภรรยา” เพราะ 1 ปี ให้ผลผลิตเพียง 1 ครั้ง ยอมรับว่าผลผลิตรุ่นแรก ปีนี้ ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และผลผลิตออกช้า จากปกติออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ปีนี้ขยับมาช่วงเดือนพฤษภาคม ด้วยผลผลิตุร่นแรกลดลง ชาวสวนปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ จึงเน้นการขายออนไลน์จัดส่งทั่วไทย เสิร์ฟลูกค้าถึงบ้าน ปีนี้ลูกค้าสอบถามและจองผ่านเพจ “หลงลับแลตะวันฉาย” มาตั้งแต่ต้นปี และมีออร์เดอร์จองล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว คึกคักตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือก จึงจับ “ทุเรียนเกรดเอ พรีเมียม จัดเซ็ต” ขาย เริ่มตั้งแต่เซ็ต 3 กิโลกรัม ราคา 1,650 บาท
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผลผลิตทุเรียนลับแล ปี 2567 ข้อมูลจาก สนง.เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่รวมทั้งทุเรียนหมอนทอง หลง-หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง กว่า 35,000 ไร่ มากที่สุดภาคเหนือ ซึ่งเป็นทุเรียนหลง-หลินลับแล ประมาณ 3,500 ไร่ ผลผลิตคาดออกสู่ตลาด ปี 2567 ประมาณ 1,250 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่ให้ผลผลิต 1,750 ตัน หรือลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจส่งผลให้ราคาอาจมีการปรับสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง โดยผลผลิตจะเยอะในช่วงเดือนมิถุนายน หรือรุ่น 2 .-สำนักข่าวไทย