อุตรดิตถ์ 15 พ.ค. – คอทุเรียนห้ามพลาด ต้องลองชิมทุเรียนห้วยต้า สายพันธุ์หลง-หลินลับแล หรือ ทุเรียนติดเกาะ เป็นทุเรียนทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดภาคเหนือ ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วมีให้กินถึงเดือนกรกฎาคม
ที่ท่าเรือเขื่อนดิน ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดภาคเหนือ บ้านท่าเรือ ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่เช้า บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ประชาชน และนักท่องเที่ยว ต่างนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไปจอดรอเรือโดยสารที่ออกจาก หมู่บ้านห้วยต้า หมู่ 4 ต.นางพญา อ.ท่าปลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่อยู่บนเกาะ หรือยอดภูเขา กลางเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเลือกซื้อทุเรียนห้วยต้า สายพันธุ์หลง-หลินลับแล หรือทุเรียนติดเกาะ หรือทุเรียนทะเลสาบน้ำจืด ที่กำลังออกสู่ตลาด
งานนี้ใจไม่ถึง ไม่ได้กิน เพราะต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น ที่สำคัญราคาไม่แพง เริ่มต้นกิโลกรัม 150 บาท หากไปซื้อถึงแหล่งปลูก เมื่อเรือเทียบท่า พ่อค้าแม่ค้าขาประจำ และประชาชนที่ชื่นชอบทุเรียน ต่างขึ้นไปบนเรือเพื่อเลือกซื้อทุเรียนโดยตรงจากชาวสวนที่บรรทุกเรือมา
เกษตรกรชาวสวนทุเรียนบ้านห้วยต้า กล่าวว่า บ้านห้วยต้า เป็นหมู่บ้านเดียวที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางเขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 150 ครอบครัว ที่ไม่ได้อพยพออกจากที่อยู่เดิม จากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี 2511 แต่ย้ายขึ้นไปอยู่บนยอดเขาแทนเพื่อให้พ้นน้ำ จึงเป็นชาวเกาะมานาน 56 ปี และยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยอาศัยอยู่บนยอดเขาน้ำล้อมรอบ อากาศชุ่มชื้นร้อยละ 70 จึงปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง จากนั้นมาเสียบยอดด้วยทุเรียนหลง-หลิน และหมอนทองลับแล และเริ่มให้ผลผลิต สามารถตัดขายได้แล้ว ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนรู้จัก เพราะหาซื้อ หรือรับประทานยาก ต้องนั่งเรือไปยังหมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือชาวสวนจ้างเรือมาส่งฝั่ง กลายเป็นอะเมซซิ่ง สำหรับคนที่ชื่นชอบทุเรียน
นายอนันต์ สีแดง ผอ.ททท.สำนักงานแพร่, อุตรดิตถ์ ที่มาชม ชิม และซื้อทุเรียนทะเลสาบน้ำจืดบ้านห้วยต้า กล่าวว่า นอกจาก อ.ลับแล ยังมีอีกหลายพื้นที่ปลูกทุเรียน ที่บ้านห้วยต้า หมู่บ้านบนเกาะกลางเขื่อนสิริกิติ์ เพียงหนึ่งเดียวที่ปลูกทุเรียนสายพันธุ์หลง-หลินลับแล และหมอนทองกลางเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หรือจะเรียก ทุเรียนทะเลสาบน้ำจืด ปีนี้ผลผลิตมีดแรกตัดออกสู่ตลาดแล้ว ขนส่งด้วยเรือเพียงทางเดียว จากหมู่บ้านมาถึงท่าเรือ เรือเร็ว 1 ชม. เรือโดยสาร 2 ชั่วโมง ราคาไม่สูงมาก หากมารับถึงที่ท่าเรือ เริ่มต้นกิโลกรัมละ 150 บาท หากมาซื้อผลผลิตทางการเกษตรจะได้สัมผัสวิถีชีวิต ชาวบ้าน ชาวประมงน้ำจืดที่ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดภาคเหนือด้วย โดยมีขายต่อเนื่อง ถึงเดือนกรกฎาคม . – สำนักข่าวไทย