อุดรธานี 3 ต.ค. – “ข้าวงาโค” ขนมหวานมีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนชาวไทยพวนดั้งเดิม ปัจจุบันได้รับความนิยมจากคนในชุมชน และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวกำลังผลักดันให้เป็นอาหารพื้นถิ่นที่ของ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ชาวไทยพวน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้สาธิตการกวนข้าวงาโค ซึ่งเป็นการนำข้าวเหนียวนึ่งมากวน ใส่น้ำใบเตย มีส่วนผสมที่เป็นพืชที่มีในท้องถิ่น และทำส่วนผสมทุกอย่างให้สุก เช่น งาขาว งาดำ เผือก มัน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ลูกเดือย ข้าวโพด เม็ดบัว มะพร้าว น้ำตาล เกลือ กวนในกระทะเตาถ่านเข้าด้วยกันเมื่อสุกแล้ว นำใส่ภาชนะ หรือห่อใส่ใบตอง รสชาติข้าวงาโค จะหอม หวาน มัน
คุณยายโควิน ศรีสว่าง อายุ 76 ปี ได้ให้ข้อมูลว่า ข้าวงาโคชาวบ้านจะนิยมกวนข้าวในช่วงวันสงกรานต์ หรือวันที่ 13 เดือนเมษายนเป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เมษายน ชาวบ้านจะนิยมทำบุญตามวัดต่างๆ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับอาหารที่ต้องคัดสรรอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ ข้าวงาโค ปัจจุบันมีที่ อ.บ้านผือ ที่ยังรักษามรดกประเพณีวัฒนธรรม และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องได้สาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชม รวมไปถึงทำเป็นอาหารว่างไว้ต้อนรับผู้มาเยือน อ.บ้านผือ อีกด้วย
ทั้งนี้ มีความเชื่อว่า ข้าวงาโค คือข้าวที่นางสุชาดาไปถวายพระพุทธเจ้า จะกวนข้าวในช่วงประเพณีสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ซึ่งปัจจุบันได้ประยุกต์สามารถทำได้ทุกเทศกาลงานบุญ และส่งเสริมให้เป็นอาหารประจำถิ่น และถือเป็น Soft Power ถ่ายทอดวัฒนธรรมของชุมชนไทยพวน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านผือ จ.อุดรธานี อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จะได้จัดกิจกรรม หมากเบ็งอุดรบูชา วัฒนธรรมภูพระบาท นักท่องเที่ยวสามารถมาชมการสาธิตทำข้าวงาโคได้ และมีกิจกรรมจากชุมชนไทยพวนอีกมากมาย. -สำนักข่าวไทย